สิทธิสภาพนอกอาณาเขต Pantip

Client’s information

Choose your service *

Online Clinic (Consultation via Zoom Meeting)

In-person Clinic (Consultation at BOI HQ)

Company’s Name

Name-Family Name *

E-mail *

Tel. *

BOI’s relevant Divisions *

Products/Services (Steel Gear, Alcohol Gel, Hotel etc) * * BOI reserves the rights to cancel this appointment, if the product/service names and questions are insufficient for the preparation of this meeting

Questions / Inquiry * * BOI reserves the rights to cancel this appointment, if the product/service names and questions are insufficient for the preparation of this meeting

Request a translator

Japanese

Chinese


Note:

  • An investor cannot specify a BOI officer through this system. Each division will assign a different officer for each day.
  • This consultation meeting cannot be used for BOI project interview. For interview, please directly contact your BOI officer in charge of you project.
  • One Client can register for 1 appointment/day.
  • If you wish to change your appointment, please cancel your current appointment via responding email and re-register through this form.
  • For any questions, please contact +66 2 553 8300.

BOI In-person Clinic

  • Please visit and check-in at BOI Consultation Unit, 1st floor, BOI Headquarter for the consultation service.

BOI Online Clinic

  • This consultative meeting will be held through Zoom Meeting Platform. The booking system will send out Zoom Meeting links for the sessions through confirmation email after your successful registration.

นับแต่ประเทศสยามเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เสียเอกราชทางการศาลไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ชนชั้นปกครองในเวลานั้นก็เร่งปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและกฎหมายที่ถูกกล่าวหาว่าป่าเถื่อนให้เป็นอารยะขึ้น  ดังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะกรรมการชำระกฎหมายขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2440  เพื่อปรับปรุงประมวลกฎหมายของไทย

การปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรียกว่าเป็นการ “พลิกแผ่นดิน” หรือ Revolution นั้น[2]  ผลงานสำคัญที่เด่นชัด ก็คือ การปฏิรูประบบกฎหมายและการศาลของไทยให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ และแน่นอนว่าสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง ก็เพื่อนำไปสู่การยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต นั่นเอง

ในการนี้ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญจนได้รับการยกย่องเป็น บิดาและองค์ปฐมาจารย์ของนักนิติศาสตร์แห่งประเทศไทย[3] คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์[4]

โดยราชกิจสำคัญของพระองค์ย่อมได้แก่ การที่พระองค์ทรงเป็นประธานคณะกรรมการตรวจชำระและจัดระเบียบกฎหมายไทย  ทั้งได้ทรงเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนสอนกฎหมาย ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดให้ยกฐานะเป็นโรงเรียนหลวงขึ้นกับกระทรวงยุติธรรม  จะเห็นได้ว่า พระองค์ทรงมีบทบาททั้งในฐานะผู้วางรากฐานการศึกษากฎหมาย และทรงเป็นกำลังสำคัญในการปรับปรุงประมวลกฎหมายของบ้านเมือง  จนได้รับการเทิดทูนให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการเผยแพร่งานทางกฎหมายต่าง ๆ อย่างที่รับรู้กันในวงกว้าง

อย่างไรก็ดี ในบทความนี้ จะมุ่งกล่าวถึงบทบาทของนายปรีดี พนมยงค์ ในการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต จนประเทศสยามได้รับเอกราชสมบูรณ์กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง  เพื่อแสดงถึงตัวอย่างบุคคลที่เจริญรอยตามพระปณิธานของพระองค์ท่านที่ว่า “My life is service”  โดยใช้เรื่องการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเป็นตัวเชื่อมเรื่องราวของพระองค์ท่านกับนายปรีดีเข้าด้วยกัน  นอกเหนือไปจากที่นายปรีดีเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม และเป็นอาจารย์ผู้สอนในสถานศึกษาแห่งนี้

สภาพปัญหา[5]

ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สยามถูกจักรวรรดินิยม (Imperialism) หลายประเทศบังคับต้องทำสัญญาไม่เสมอภาค โดยยอมให้ประเทศเหล่านั้นมีสิทธิพิเศษเหนือประเทศสยามหลายประการ อาทิ คนในบังคับต่างชาติ ทำผิดในดินแดนไทย แต่ศาลไทยไม่มีอำนาจตัดสิน หากรัฐบาลไทยต้องส่งตัวคนต่างประเทศที่ทำผิดนั้นไปให้ศาลกงสุลของต่างประเทศชำระคดี 

แม้ต่อมาหลายประเทศ เช่น อังกฤษ และฝรั่งเศส จะยอมผ่อนผันให้ไทยตั้งศาลต่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาไทยและที่ปรึกษากฎหมายชาวยุโรปร่วมกันพิจารณาคดีก็ตาม  แต่ก็ให้ถือเอาความเห็นของที่ปรึกษาชาวยุโรปเป็นใหญ่กว่าผู้พิพากษาไทย โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำนวนผู้พิพากษาไทยจะมีมากกว่าที่ปรึกษาชาวยุโรป

แม้กระนั้นในสนธิสัญญาก็ยังได้กำหนดไว้อีกว่า คดีที่อยู่ในศาลต่างประเทศนั้น กงสุลอังกฤษก็ยังมีอำนาจที่จะถอนคดีไปชำระที่ศาลกงสุลของอังกฤษได้ สถานกงสุลของหลายประเทศมีศาลและคุกสำหรับคนในบังคับของตนโดยเฉพาะ และมีสิทธิพิเศษอื่น ๆ ที่เรียกตามศัพท์กฎหมายระหว่างประเทศว่า สิทธิสภาพนอกอาณาเขต (Extraterritoriality)

เรื่องที่ฝังใจมาแต่สมัยเรียนหนังสือ

นายปรีดี ตระหนักถึงปัญหาเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาวิชากฎหมาย ดังที่เคยเล่าไว้ว่า

“ระหว่างที่ข้าพเจ้าศึกษาวิชากฎหมายนั้น  ข้าพเจ้าเห็นว่ามหาอำนาจต่างชาติถือสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเหนือประเทศสยาม  ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางทฤษฎีหรือทางปฏิบัติ  คนในสังกัดมหาอำนาจเหล่านี้ไม่ต้องขึ้นศาลไทย เพราะคดีที่มีคู่ความเป็นคนสังกัดต่างชาติเหล่านั้น จะต้องให้ศาลกงสุลหรือศาลคดีระหว่างประเทศตัดสิน  ทั้งนี้เป็นไปตามสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคระหว่างชาติมหาอำนาจกับประเทศสยาม   ในศาลคดีระหว่างประเทศ คำวินิจฉัยของผู้พิพากษาชาติยุโรปจะมีน้ำหนักกว่าคำวินิจฉัยของผู้พิพากษาชาวสยาม  ข้าพเจ้าไม่พอใจการอำนาจอธิปไตยเช่นนี้เลย  ข้าพเจ้าจึงได้ตัดสินใจที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราชอันสมบูรณ์โดยมีอำนาจอธิปไตยของตนอย่างเต็มเปี่ยม...”[6]

อย่างไรก็ดี มีคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจผิดไปอย่างสำคัญว่า สิทธิสภาพนอกอาณาเขตไม่ได้มีผลกระทบที่ “ร้ายแรง” ต่อสถานะของประเทศสยามแต่อย่างใด  มิหนำซ้ำยังเห็นว่า ประเทศสยามสามารถแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวไปแล้วตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือบางก็ย้ำว่าได้แก้ไขอย่างเรียบร้อยและสมบูรณ์ไปแล้วในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อันเนื่องมาจากประเทศสยามเข้าร่วมมหาสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับการพิจารณาและได้รับการรับรองแล้วว่ามีความเจริญตามแบบอย่างนานาอารยประเทศ[7]

อภิวัฒน์: เปลี่ยนแปลงการปกครอง

ต้องไม่ลืมว่า สิทธิสภาพนอกอาณาเขตเป็นเรื่องที่กัดกร่อนและกระทบกระเทือนคนที่มีการศึกษาทางกฎหมาย ทางทหาร และข้าราชการเป็นอย่างยิ่ง ส่งผลให้ความตั้งใจที่จะทำให้ประเทศมีเอกราชสมบูรณ์เป็นเจตนารมณ์หนึ่งของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง[8]  เมื่อคณะราษฎรอภิวัฒน์ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรที่มีนายปรีดีเป็นมันสมอง ได้ออกแถลงการณ์ประกาศเจตนารมณ์ของการเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย  พร้อมทั้งกล่าวถึงหลักการสำคัญ 6 ประการของคณะราษฎร ในนั้นด้วย  โดยในข้อแรกกล่าวถึงหลักเอกราช ที่ว่า “จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง” 

รัฐบาลในระบอบรัฐธรรมนูญนี้ ได้พยายามอย่างยิ่งในการเร่งให้ประมวลกฎหมายที่ร่างค้างอยู่ในระบอบเดิม ออกประกาศใช้ เพื่อขจัดเงื่อนไขที่ประเทศต่าง ๆ ยกอ้างเพื่อคงสิทธิสภาพนอกอาณาเขตไว้ในประเทศสยาม  ตัวอย่างเช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตลอดจนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในบรรพ 5 และ 6 ในช่วงปี 2477–2478

นับเป็นความพยายามของรัฐบาลพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ในการที่จะเร่งทำกฎหมายหลักในความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนด้วยกันเองให้ได้เกณฑ์มาตรฐานสากล  เราอาจจะกล่าวได้ว่า ภารกิจของคณะราษฎรนี้ เป็นภารกิจที่รับสืบเนื่องมาจากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์  เพราะแม้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประมวลกฎหมายเหล่านี้ก็จะต้องได้รับการจัดทำขึ้นอยู่นั่นเอง เพื่อเราจะได้เรียกเอาเอกราชทางการศาลกลับคืนมา เพียงแต่ว่าเมื่ออภิวัฒน์แล้ว มีการเร่งทำกฎหมายเหล่านี้จนเสร็จ ก็ต้องถือเป็นคุณูปการสำคัญประการหนึ่งของคณะราษฎร[9]

ดังมีผู้กล่าวถึงสนธิสัญญาเสมอภาคที่ยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในเวลาต่อมาว่า “สนธิสัญญาเหล่านี้ คือ ผลแห่งการอุทิศความเชื่อมั่นของประเทศมหาอำนาจที่มีต่อประมวลกฎหมายสยาม และยังเป็นเสมือนสิ่งซึ่งแสดงว่า สยามได้ชดใช้หนี้พันธะต่าง ๆ ครบถ้วน จนได้เอกราช (ทางการศาล) กลับคืนมาโดยสมบูรณ์”[10]

งานสำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ[11]

เมื่อสมัยยังใช้บรรดาศักดิ์ “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม” นายปรีดีได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (9 สิงหาคม 2480 – 15 ธันวาคม 2481) ในรัฐบาลที่มี พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี  ในสมัยนี้ การที่สามารถทำสนธิสัญญายุคใหม่ (สนธิสัญญาเสมอภาคที่แก้และยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม) อย่างรวดเร็วและบรรลุผลดีเลิศนั้น นับว่าความสามารถของท่านผู้นี้มีส่วนสำคัญอยู่มาก  เพราะท่านเป็นผู้มีอำนาจเต็มในอันที่จะทำการเจรจากับผู้แทนรัฐบาลต่าง ๆ ในระหว่าง พ.ศ.2480–2481[12] และที่การเจรจาทำสนธิสัญญาใหม่กับมหาประเทศต่าง ๆ เป็นผลสำเร็จในเวลาอันสั้นได้ ก็โดยอาศัยความรู้ความสามารถและความเอาจริงเอาจังเพื่อประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองของท่านเป็นสำคัญด้วย  ดังท่านเองต้องมาร่วมลงมือกับข้าราชการผู้รับผิดชอบ แม้ในเวลาค่ำคืนเป็นเวลานานเป็นแรมปี[13]

นายปรีดีเล่าไว้ในหนังสือ โมฆสงคราม ความตอนหนึ่งว่า

“การดำเนินนโยบายการเมืองระหว่างประเทศสมัยพระยาพหลฯ ได้รับผลประจักษ์เป็นรูปธรรม โดยอาศัยวางพื้นฐานประชาธิปไตยภายในประเทศให้เป็นกำลังหลักของปวงชนชาวสยาม และการจัดทำประมวลกฎหมายครบถ้วนเป็นหลักประกันให้แก่ชาวสยามและชาวต่างประเทศที่เข้ามาพึ่งโพธิสมภาร อีกทั้งเราประคับประคองบรรยากาศสันติภาพไว้ให้ดี  เราจึงเป็นฝ่ายกุมดุลแห่งอำนาจระหว่างประเทศไว้ในส่วนที่เกี่ยวกับสยาม  ดังนั้น เราจึงสามารถบอกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับ 15 ประเทศ แล้วเปิดการเจรจาทำสนธิสัญญาใหม่โดยถือหลักเสมอภาค, ถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน, ความเป็นธรรม, ประโยชน์แก่กันและกัน   นานาประเทศจึงเห็นใจเรายินยอมทำสนธิสัญญานั้น อันเป็นผลให้ปวงชนชาวสยามมีความเป็นเอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์ทุกประการ  ศาลต่างประเทศและศาลกงสุลได้ยกเลิกไป ศาลสยามมีอำนาจเต็มที่ในการชำระคดีของคนต่างประเทศด้วย”[14]

กล่าวโดยสรุป คือ ประเทศสยามสามารถยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ได้รับเอกราชทางการศาลกลับคืนมา ในสมัยรัฐบาลคณะราษฎร ที่มีหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ  หลังจากที่ถูกอิทธิพลทางสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเข้าครอบงำจนมีผลสะท้อนให้ไทยต้องเสียเอกราชทางการศาลเป็นเวลาถึง 83 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2398–2481[15]

ทำงานสำเร็จ: มีเอกราชสมบูรณ์ทางการศาล

ต่อมาเมื่อนายปรีดีย้ายมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (20 ธันวาคม 2481 – 16 ธันวาคม 2484)  ในรัฐบาลที่มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี  ท่านได้กล่าวคำปราศรัยแก่ประชาชนชาวสยามทางวิทยุกระจายเสียงเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2481 (ปีอย่างเก่าที่สิ้นปีวันที่ 31 มีนาคม อย่างใหม่วันเดือนนั้นจะต้องเป็นใน พ.ศ. 2482) มีความตอนหนึ่งว่า

“... รัฐบาลได้แก้ไขสนธิสัญญากับนานาประเทศเสร็จสิ้น จนสยามได้สิทธิอธิปไตยกลับคืนมาอย่างเต็มที่ มีอิสรภาพสมบูรณ์ในเรื่องอำนาจศาล และการภาษีอากรโดยอาศัยไมตรีจิตต์ความเห็นใจและความเข้าใจอันดีจากนานาประเทศในนโยบายและสมรรถภาพของสยามในระบอบรัฐธรรมนูญ อันมีคุณค่าสำคัญยิ่งแห่งหลักเอกราชของชาติ ...

“ความได้มาซึ่งสิทธิอธิปไตย และสิทธิเสมอภาคอันสมบูรณ์จากนานาประเทศในสนธิสัญญาฉบับใหม่นี้ รัฐบาลปัจจุบันจะสงวนและดำรงรักษาไว้อย่างแข็งขัน และจนสุดความสามารถภายใต้ความสัมพันธ์กับนานาชาติ ในหลักแห่งการถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน หลักความเป็นธรรมและหลักคุณประโยชน์แก่กันและกันโดยแบบเดียวและสม่ำเสมอกันต่อทุกประเทศ และจะไม่ยอมให้อำนาจหรืออุปสรรคใด ๆ มาทำลายล้างสิ่งซึ่งถือว่าเป็นมรดกอันจะสืบทอดไปยังกุลบุตรชั้นหลัง ดังจะเห็นได้จากนโยบายส่วนหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลได้วางไว้สำหรับกระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง  กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงยุติธรรมนั้นแล้ว

“เมื่อนานาชาติได้ผูกสัมพันธ์ไมตรีกับเราด้วยความเสมอภาค ด้วยความไว้วางใจและความนับหน้าถือตาฉะนี้แล้ว นับว่าความปรารถนาใหญ่ยิ่งของสยามใหม่ในอันที่จะได้คืนมา ซึ่งอธิปไตยสมบูรณ์จากด้านต่างประเทศนั้น  เป็นอันสำเร็จสมความปรารถนาทุกประการ ควรที่ประชาชนชาวสยามทุกคนจะภาคภูมิใจในเกียรติที่ได้รับนี้ และในเวลาเดียวกันควรจะระลึกว่าเราได้มาซึ่งสนธิสัญญาใหม่นี้ ก็โดยความเห็นใจและความเข้าใจอันดีจากนานาชาติ ในนโยบายและสมรรถภาพของสยามในระบอบรัฐธรรมนูญ สมรรถภาพเช่นว่านี้เราจะต้องช่วยกันส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งยิ่งขึ้น และมีผลจริงจังโดยรวดเร็ว...”[16]

บทสรุป

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า การทำสนธิสัญญาตามแบบเสมอภาคซึ่งสำเร็จลงในสมัยหลังการอภิวัฒน์  โดยนายปรีดีมีบทบาทสำคัญนี้  นับเป็นความสำเร็จที่เจริญรอยสืบเนื่องจากพระบรมราโชบายปลดเปลื้องพันธะสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของประเทศมหาอำนาจ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ทรงร่วมกันวางรากฐานไว้  และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กับกรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย ก็สืบสานต่อมา[17]  โดยที่กรมหลวงราชบุรีฯ ก็มีส่วนสำคัญในการปรับปรุงกฎหมายของประเทศให้ทันสมัยเพื่อขจัดเงื่อนไขที่ประเทศมหาอำนาจจะยกขึ้นมาอ้างเพื่อคงสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเอาไว้

ดังที่มีผู้สรุปว่า “การแก้ไขสนธิสัญญาซึ่งเป็นพันธะผูกมัดอธิปไตยทางการศาลของไทยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวากรากฐานไว้แล้วในรัชสมัยของพระองค์  หากเปรียบเหมือนการปลูกต้นไม้สักต้นหนึ่ง เราก็ได้ประจักษ์ชัดแล้วว่า ต้นไม้ต้นนี้ได้รับการบำรุงรักษาและรดน้ำพรวนดินใส่ปุ๋ยชนิดดีจนเจริญเติบโตแผ่กิ่งก้านสาขาเต็มที่และกำลังเริ่มผลิดอกออกผล เพราะความสนพระทัยเฝ้าทนุถนอมของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  เท่าที่รัฐบาลไทยในสมัยการปกครองรัฐธรรมนูญได้ประสพความชื่นใจ เพราะผลของต้นไม้โตถึงขนาดพอใช้บริโภคได้  ก็เนื่องมาจากความจริงที่ว่า ต้นไม้ดังกล่าวเจริญเติบโตจนเริ่มผลิผลมา ตั้งแต่รัชสมัยพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 เพียงแต่เพิ่งจะถึงกำหนดใช้บริโภคได้ในสมัยต่อมา”[18] 

ขณะที่นายปรีดีเองก็ได้เขียนเอาไว้ว่า “คณะราษฎรมิได้ปฏิเสธวิธีดำเนินวิเทโศบายการเมืองระหว่างประเทศ  ส่วนที่ดีของพระพุทธเจ้าหลวง (รัชกาลที่ 5) พระมงกุฎเกล้าฯ (รัชกาลที่ 6) พระปกเกล้าฯ (รัชกาลที่ 7) ที่ได้ทรงรักษาเอกราชของชาติ ให้คงไว้”[19] และ “ปรีดีขอสรรเสริญรัฐบาลสมบูรณาฯ ร.6 และ 7 ที่ได้พยายามภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ในการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาซึ่งสยามถูกผูกมัดไว้ตั้งแต่สมัยก่อน ๆ ส่วนผลสำเร็จมีมากน้อยเพียงใดนั้นก็จะต้องพิจารณาจากหลักฐานแท้จริง คือ ตัวบทสนธิสัญญากับข้อตกลงและเอกสารประกอบหลักฐานเหล่านั้นที่ได้ตกลงกับหลายประเทศในสมัยสมบูรณาฯ”[20]

ดังนั้น ควรที่จะตระหนักว่า การงานสิ่งใดที่ซึ่งเป็นของดีที่รัฐบาลในระบอบเดิมได้ริเริ่มดำเนินไว้ รัฐบาลในระบอบใหม่ที่มีความชอบธรรมมากกว่า ก็ไม่พึงละทิ้งเพิกเฉยเสียเพียงเพราะความเชื่อในลัทธิการเมืองไม่ต้องตรงกัน  ความข้อนี้เอง คณะราษฎร เช่น นายปรีดี ก็ได้ตระหนักดี  เพราะการแบ่งอะไรเป็นดำเป็นขาวและปฏิเสธความเห็นที่แตกต่างกันง่ายเกินไป ดังที่มักพบเห็นในปัจจุบันนั้น ย่อมทำให้ผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่สังคมส่วนรวมควรได้รับลดน้อยถอยลงไป

หรือถ้าจะพูดจำเพาะเจาะลงไปก็คือ ในเรื่องการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตนี้ กรมหลวงราชบุรีฯท่านมีส่วนเกี่ยวข้องในทางการปรับปรุงระบบกฎหมายภายในประเทศให้เจริญขึ้น เพื่อให้การเจรจากับประเทศมหาอำนาจลุล่วงไปได้  โดยที่นายปรีดีเข้ามาเกี่ยวข้องกับงานด้านนี้โดยตรงก็เมื่อตอนว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในการเจรจายกเลิกสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ยกเลิกข้อกำหนดเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตต่าง ๆ ให้ประเทศของเราได้รับเอกราชทางการศาลกลับคืนมาอย่างสมบูรณ์ 

นายปรีดีเป็นนักนิติศาสตร์ ซึ่งยึดถือความชอบธรรมและถูกต้องตามกฎหมาย (Rule of Law) เป็นหลัก จึงได้ยึดมั่นแนวทางเจรจาแก้ไขโดยสันติวิธีกับต่างประเทศเหล่านั้น แทนที่จะใช้กำลังเข้าแก้ไขดังเช่นบางประเทศ[21] ไม่เพียงแต่ในกรณีนี้ หากยังปรากฏงานอื่น ๆ ของท่านด้วย เช่น ในสงครามอินโดจีน ในนวนิยายและภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” ที่ประกาศเจตนารมณ์เพื่อสันติภาพอย่างชัดเจน และในขบวนการเสรีไทยเพื่อรักษาเอกราชของไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (2484–2488) เป็นต้น

ในวาระ 75 ปี ของวันสันติภาพไทย 16 สิงหาคม 2563 ถ้าเรานำบทเรียนเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและการแก้ไขปัญหานี้ มาเป็นเครื่องเตือนใจเรา  อย่างน้อยอนุชนจะได้เห็นว่า  ชัยชนะแห่งสันติภาพนั้นมิได้มีชื่อเสียงบันลือนามน้อยไปกว่าชัยชนะแห่งสงครามแต่อย่างใด[22]


[1]  เวลานั้นผู้เขียนบวชเป็นพระอยู่ที่วัดทองนพคุณ กรุงเทพฯ เขียนเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2558 ตีพิมพ์ครั้งแรกด้วยชื่อเรื่อง “จากกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ถึงนายปรีดี พนมยงค์: พิจารณาเรื่องการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต” ในหนังสือ วันรพี 2558 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ในการเผยแพร่ทางออนไลน์นี้ได้ปรับแก้ถ้อยคำเพียงเล็กน้อยเท่านั้น.

[2] โปรดดู คำนำที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2470 ในหนังสือ พระราชดำรัสในพระบาทเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน (กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2557), หน้า 6.

[3] ทรงศรี อาจอรุณ, การแก้ไขสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิสภาพนอกอาณาเขต กับประเทศมหาอำนาจในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระนคร: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2506, หน้า 314.

[4] พึงตราไว้ด้วยว่า ในอดีต พระองค์เจ้าเมื่อทรงกรมแล้ว พระนามเดิมของพระองค์เจ้าจะงดไป เป็นต้นว่า พระองค์เจ้าจิตรเจริญ เมื่อเป็นกรมขุนนริศรานุวัดติวงษ์แล้ว ก็ไม่ใช้พระนาม พระองค์เจ้าจิตรเจริญอีก  แม้ต่อมาได้รับเลื่อนให้เป็นเจ้าฟ้า ก็ใช้พระนามว่า เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงษ์แทน และเป็นเช่นนี้จนถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาฯ  การที่เขียนว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ จึงไม่ถูกต้อง

ดังนั้น สำหรับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์  ก็ไม่พึงใช้ผิด ๆ ว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์  กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์. 

[5] เรียบเรียงจาก ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี  พนมยงค์, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2535, หน้า 23 – 24.

[6] ปรีดี พนมยงค์, ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธาณรัฐราษฎรจีน, แปลโดย พรทิพย์ โตใหญ่ และ จำนง ภควรวุฒิ, กรุงเทพฯ: เทียนวรรณ, 2529, หน้า 18.

[7] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, “คำนำ,” ใน ดิเรก ชัยนาม, การสิ้นสุดแห่งสภาพนอกอาณาเขตต์ในกรุงสยาม, พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ: คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2547, หน้า 11.

[8] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, “80 ปีแห่งการปฏิวัติสยาม,” ใน จาก 100 ปี ร.ศ.130 ถึง 80 ปี ประชาธิปไตย, กรุงเทพฯ: สถาบันนโยบายศึกษา, 2557, หน้า 14.

[9] วรเจตน์ ภาคีรัตน์, “คณะราษฎรกับการเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมาย”, ใน จาก 100 ปี ร.ศ.130 ถึง 80 ปี ประชาธิปไตย, กรุงเทพฯ: สถาบันนโยบายศึกษา, 2557, หน้า 29.

[10] Virginia Thompson, Thailand: The New Siam, p. 232 อ้างถึงใน ทรงศรี อาจอรุณ, การแก้ไขสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิสภาพนอกอาณาเขต กับประเทศมหาอำนาจในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระนคร: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2506, หน้า 326.

[11] สามารถดูรายละเอียดและข้อสังเกตต่างๆ ได้จาก ปรีดี พนมยงค์, “สังเขปการเจรจาสนธิสัญญาใหม่ เมื่อ พ.ศ.2480 (ค.ศ.1937) ชาติไทยได้เอกราชสมบูรณ์” ใน ชีวประวัติย่อของนายปรีดี  พนมยงค์, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2535, หน้า 105 – 147.

[12] ทรงศรี อาจอรุณ, การแก้ไขสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิสภาพนอกอาณาเขต กับประเทศมหาอำนาจในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระนคร: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2506, หน้า 313.

[13] วงศ์ พลนิกร, นโยบายต่างประเทศที่พึงปรารถนา และแนวคิดของท่านปรีดี พนมยงค์, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, 2542, หน้า 5.

[14] โปรดดูใน ปรีดี พนมยงค์, โมฆสงคราม, กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558.

[15] ทรงศรี อาจอรุณ, การแก้ไขสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิสภาพนอกอาณาเขต กับประเทศมหาอำนาจในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระนคร: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2506, หน้า 294.

[16] โปรดดูใน ปรีดี พนมยงค์, โมฆสงคราม, กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558.

[17] ทรงศรี อาจอรุณ, การแก้ไขสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิสภาพนอกอาณาเขต กับประเทศมหาอำนาจในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระนคร: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2506, หน้า 294.

[18] เรื่องเดียวกัน, หน้า 325 – 326.

[19] โปรดดูใน ปรีดี พนมยงค์, โมฆสงคราม, กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558.

[20] ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี  พนมยงค์, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2535, หน้า 109.

[21] วงศ์ พลนิกร, นโยบายต่างประเทศที่พึงปรารถนา และแนวคิดของท่านปรีดี พนมยงค์, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, 2542, หน้า 4 – 5.

[22] ปรีดี พนมยงค์, พระเจ้าช้างเผือก, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, 2542, หน้า (11).