โครงการโซล่าเซลล์ รัฐบาล 2565



แนวโน้มการติดตั้งโซลาร์ฯ ปี 2565 ยังมาแรงรับกระแสลดโลกร้อนตามเทรนด์โลก หลังแบตเตอรี่ราคาต่ำลงหนุนการติดตั้งเป็นระบบไฮบริดมากขึ้น ลุ้นรัฐคลอดแพกเกจส่งเสริมการใช้รถ EV หวังเร่งเครื่องให้การติดตั้งโซลาร์ฯ ยิ่งเพิ่มขึ้น

นายพลกฤต กล่ำเครือ นายกสมาคมผู้ประกอบการและช่างพลังงานแสงอาทิตย์ เปิดเผยว่า แนวโน้มการติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ภาพรวมของไทยปี 2565 จะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะบนหลังคาที่อยู่อาศัยและอาคารโรงงาน (โซลาร์รูฟท็อป) ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับใหม่ (PDP 202) ที่ปรับเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเพื่อให้สอดรับกับกระแสการลดภาวะโลกร้อนภายใต้การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ COP 26 ที่ทำให้ประเทศต่างๆ และองค์กรเอกชนรายใหญ่ประกาศวางเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์

"มีหลายปัจจัยที่หนุนการติดตั้งโซลาร์ฯ ที่จะมีมากขึ้นในปี 2565 โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องเร่งปรับตัวหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเพราะกติกาโลกเริ่มมีออกมาเช่น มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรปที่จะบังคับนำร่องสินค้า 5 รายการในปี 2566 และเต็มรูปแบบในปี 2569 และอื่นๆ ที่คาดว่าจะมีตามมาเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายใต้ COP26 ซึ่งประเทศพัฒนาส่วนใหญ่วางไว้ในปี ค.ศ. 2050 และไทยวางไว้ปี ค.ศ. 2065 รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเพราะทิศทางค่าไฟฟ้าปี 2565 จะปรับขึ้นค่อนข้างสูง ดังนั้นการผลิตไฟใช้เอง (IPS) จะมีมากขึ้น" นายพลกฤตกล่าว

สำหรับภาคประชาชนที่คาดว่าจะติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากปัจจัยค่าไฟฟ้าที่มีทิศทางสูงขึ้นยังจำเป็นต้องติดตามมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จากรัฐบาลที่คาดว่าจะมีการนำเสนอเข้าสู่วาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงเดือน ม.ค.นี้ โดยมาตรการเบื้องต้นหากเป็นรถ EV ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ผู้ซื้อจะได้ส่วนลดสูงสุดประมาณ 5 แสนบาท ส่วนรถ EV ที่ราคา 2 ล้านบาทขึ้นไป ผู้ซื้อจะได้ส่วนลดสูงสุดประมาณ 7-8 แสนบาท พร้อมวางเป้าให้คนไทยหันใช้รถอีวีให้ครบ 300,000 คันภายใน 5 ปี ซึ่งหากเป็นไปตามนี้ก็จะมีส่วนสำคัญในการที่ประชาชนจะหันมาติดตั้งโซลาร์ฯ เพิ่มเติมเพื่อรองรับการใช้รถ EV เพราะต้องการใช้พลังงานฟรีที่บ้าน

อย่างไรก็ตาม การติดตั้งโซลาร์ฯ ที่สูงขึ้นต่อเนื่องมาจากเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่เริ่มมีการผลิตเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์มากขึ้นจนส่งผลให้ราคาเริ่มต่ำลง และแนวโน้มจะเป็นลักษณะไฮบริดคือการติดตั้งโซลาร์ฯ บวกกับแบตเตอรี่ เพื่อทำให้การผลิตไฟจากแสงอาทิตย์มีความมั่นคงสามารถกักเก็บไว้ใช้ได้ในช่วงกลางคืนซึ่งตอบโจทย์การพึ่งพาตนเองได้มากขึ้นและระยะยาวเชื่อว่าจะมีราคาที่ต่ำลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญในการสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์ฯ คือราคาแผงที่มีแนวโน้มสูงไปถึงไตรมาส 2 และการขาดแคลนชิปซึ่งต้องติดตามจีนที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่จะมีการผลิตเพิ่มได้มากน้อยเพียงใด

“ระยะต่อไปการติดตั้งโซลาร์ฯ ที่เป็นแบบไฮบริดจะมีมากขึ้น ความสนใจในการที่จะผลิตไฟฟ้าเพื่อที่จะขายไฟให้กับรัฐภายใต้โครงการโซลาร์ภาคประชาชนที่รับซื้อไฟส่วนเกินอัตรา 2.20 บาทต่อหน่วยคงน้อยลงเพราะราคานี้ไม่ได้จูงใจอะไร แต่เขาเน้นติดเพื่อพึ่งพาตนเองมากกว่า ดังนั้น การที่รัฐจะมีการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ภาคประชาชนเหลือเพียง 10 เมกะวัตต์ในปี 2565 จากเดิม 50 เมกะวัตต์ถือเป็นอัตราที่เหมาะสม” นายพลกฤตกล่าว



  • EV
  • โซลาร์รูฟท็อป
  • ปี 65

นายจุมภฎ หิมะเจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร MEA หรือ การไฟฟ้านครหลวง เปิดเผยว่า MEA ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐบาลด้านพลังงานหมุนเวียน โครงการโซลาร์ภาคประชาชน ปี 2565 รับซื้อไฟฟ้า 2.20 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลาสัญญา 10 ปี ตามนโยบาย กพช. โดยเปิดรับสมัครเฉพาะผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ที่ติดตั้ง Solar Rooftop ในเขตจำหน่ายของ MEA กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ผู้ใช้ไฟฟ้าที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดและสมัครเข้าร่วมโครงการผ่านทางเว็บไซต์ https://myenergy.mea.or.th ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ใช้ไฟฟ้าติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ซึ่งหากต้องการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้านั้น ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องขออนุญาตเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าและติดตั้งอุปกรณ์ตามมาตรฐานของ MEA โดยจะต้องผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ชำนาญการเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ไฟฟ้า รวมถึงป้องกันเหตุอันตรายกับเจ้าหน้าที่ MEA ที่ปฏิบัติงาน อีกทั้งไม่ให้เกิดความเสียหายกับอุปกรณ์ไฟฟ้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและคุณภาพโครงข่ายระบบจำหน่ายไฟฟ้า ปัจจุบันผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อเชื่อมต่อกับ MEA ได้ 2 รูปแบบ ดังนี้

1. การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้ภายในอาคาร ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทสามารถติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนานกับระบบจำหน่ายไฟฟ้าของ MEA เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ภายในบ้านอยู่อาศัย อาคารหรือสถานประกอบการเป็นหลัก โดยไม่ขายไฟฟ้าให้กับ MEA โดยการยื่นแบบคำขอเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าของ MEA เพื่อให้พิจารณาตามระเบียบ MEA ว่าด้วย ข้อกำหนดการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า การใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้า และการปฏิบัติการระบบโครงข่ายไฟฟ้า ซึ่งประกาศใช้ ณ ปัจจุบัน

2. การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้ภายในอาคาร และขายส่วนที่เหลือให้ MEA โครงการ Solar ภาคประชาชน การจัดหาไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา ประเภทบ้านอยู่อาศัย โดยต้องเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 ตามประกาศอัตราค่าไฟฟ้าของ MEA ที่ติดตั้งแผงเซลล์ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา โดยติดตั้งเพื่อใช้เองเป็นหลักและขาย ส่วนที่เหลือให้กับ MEA ในอัตรารับซื้อไฟฟ้า 2.20 บาท/หน่วย โดยมีระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 10 ปี

สำหรับผู้สนใจจะติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยของ MEA สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวง MEA Call Center 1130 รวมถึงแจ้งผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ได้แก่ Facebook : การไฟฟ้านครหลวง MEA, Line : MEA Connect, Twitter: @mea_news ได้ตลอด 24 ชั่วโมง