ตลาดหลักทรัพย์มีประโยชน์อย่างไร

ตลาดหลักทรัพย์มีประโยชน์อย่างไร

ทำไม คนทำธุรกิจ ต้องคิดถึง IPO ?

1 ก.ค. 2021

ทำไม คนทำธุรกิจ ต้องคิดถึง IPO ? | THE BRIEFCASE
เป้าหมายสำคัญของผู้ที่ทำธุรกิจ นอกจากจะเป็นเรื่องของผลประกอบการที่ดีแล้ว
เชื่อว่าผู้ประกอบการหลาย ๆ คนก็คงอยากจะนำธุรกิจของตนเองจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์
จากช่วงแรกที่มีบริษัทเพียง 8 บริษัท จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
จนปัจจุบัน มีบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ทั้งหมด 825 บริษัท
แล้วคุณสุวภา เจริญยิ่ง ผู้ที่พาบริษัทไทยกว่า 80 แห่งเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์
มองว่าการเข้าตลาดหลักทรัพย์มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร
ทำไมคนทำธุรกิจจะต้องนึกถึงการ IPO
THE BRIEFCASE จะสรุปให้ฟัง
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจ คำว่า IPO กันสักนิด
คำว่า IPO มาจากคำว่า Initial Public Offering ซึ่งก็คือการที่บริษัททำการระดมทุน
ด้วยการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก
โดยปกติแล้ว ในการทำธุรกิจถ้าเราอยากจะขยับขยายธุรกิจของเราให้เติบโตขึ้น ถ้าไม่ใช้ทุนที่ตัวเองมีอยู่แล้ว ก็ต้องไปหาแหล่งเงินทุนเพิ่ม อย่างเช่น การกู้ธนาคาร
แต่ถ้าเงินกู้ที่เรากู้มานั้นยังไม่เพียงพอ การจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์
ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่เราใช้ในการหาเงินทุน หรือที่เราคุ้นเคยกับคำว่า IPO
ยกตัวอย่างเช่น บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จํากัด (มหาชน)
บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ก็ได้ตัดสินใจใช้วิธีการจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ ในปี 2532
เพื่อมาเป็นแหล่งเงินทุนให้กับบริษัท เนื่องจากในสมัยนั้น ธนาคารยังไม่ค่อยปล่อยเงินกู้ให้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กันมากเท่าไร
แต่ก่อนที่จะนำบริษัทเข้า IPO ได้นั้น ผู้ประกอบการก็ควรจะตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ก่อน
ว่าเราต้องการอะไรจากการ IPO เช่น ต้องการลดภาระการเพิ่มทุน, ต้องการผลตอบแทนที่ดีขึ้น, ต้องการรู้มูลค่ากิจการ หรือต้องการระดมทุนขยายกิจการ
ซึ่งการนำบริษัทจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป
เริ่มจากข้อดีของการ IPO ก็คือ
- ชื่อเสียงของบริษัทเพิ่มขึ้น
ก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ ประชาชนทั่วไปอาจจะไม่รู้ว่าบริษัทของเราทำธุรกิจเกี่ยวกับอะไร
พอหลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ก็กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น
เช่น ในสมัยก่อนอาจมีคนรู้จัก บริษัท ควงเจริญ อีเลคโทรนิคส์ ไม่มากนัก
แต่ปัจจุบันหลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ ควงเจริญก็เป็นที่รู้จักในชื่อ KCE
ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของไทย ที่มีมูลค่าบริษัทกว่า 80,000 ล้านบาท
- แหล่งเงินทุน ที่มีต้นทุนถูกลง
การ IPO จะแตกต่างจากการหาแหล่งเงินทุนต่าง ๆ เช่น การกู้ธนาคาร ตรงที่
การ IPO ไม่ต้องจ่ายคืนเงินต้น หรือจ่ายดอกเบี้ย แต่เป็นการได้เงินทุนมาแลกกับหุ้นของบริษัทตนเอง
โดยอาจจะจ่ายเป็นปันผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น
- คัดคนเก่ง ๆ เข้ามาทำงาน
เพราะเมื่อบริษัทมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปแล้ว
ก็ย่อมเป็นการดึงดูดผู้ที่มีความสามารถเข้ามาร่วมทำงานด้วย
- เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแบรนด์ที่ดี
ข้อดีของการอยู่ในตลาดหลักทรัพย์คือ คนทั่วไปจะรู้จักบริษัท รู้จักสินค้าของเรามากขึ้น และรู้ว่าธุรกิจของเราทำเกี่ยวกับอะไร สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลให้เขาเลือกเป็นลูกค้าเราได้
เมื่อเรารู้ข้อดีของการ IPO แล้ว ก็มาลองดูข้อเสียของการ IPO กันบ้าง
โดยข้อเสียของการ IPO ก็คือ..
- เสียความเป็นส่วนตัว ต้องเปิดเผยข้อมูลบริษัท และเปิดเผยข้อมูลภายในให้กับสาธารณชน
- เสียส่วนแบ่งในการเป็นเจ้าของ
ยิ่งเวลาที่บริษัทมีผลประกอบการที่ดีหรือกำไรที่ดี
ก็เหมือนกับแบ่งของดีให้คนอื่นเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของ
- กฎระเบียบเยอะขึ้น ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่เยอะขึ้น
เช่น ค่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน ค่าจ้างตรวจสอบภายในเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน จากเดิมค่าตรวจสอบบัญชีอาจอยู่เพียงหลักหมื่น
แต่เมื่อจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้ว อาจเพิ่มมาเป็นหลักล้านบาทก็ได้
สุดท้ายนี้คุณสุวภาได้บอกว่า การเข้าตลาดหลักทรัพย์ก็เหมือนวิ่งมาราธอน
ไม่ใช่ว่าคิดวันนี้แล้วจะเข้าได้เลย ต้องใช้เวลาในการเตรียมความพร้อม 2-3 ปี
และหลังจากเข้าไปแล้วก็ต้องพัฒนาองค์กรอยู่เสมอ เพราะในตลาดหลักทรัพย์มีคู่แข่งมากมาย
เราต้องพัฒนาเพื่อดึงดูดนักลงทุนในเข้ามาลงทุนในธุรกิจของเราต่อไป..
Reference
- ลงทุนแมนสัมภาษณ์พิเศษ คุณสุวภา เจริญยิ่ง ผู้ที่พาบริษัทไทยกว่า 80 แห่งเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ และอุปนายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย

Tag:initial public offeringIPOตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทำไม คนทำธุรกิจ ต้องคิดถึง IPO ?บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จํากัด (มหาชน)สุวภา เจริญยิ่ง

แม้การลงทุนในหุ้นจะมีความเสี่ยงในระดับหนึ่ง แต่การลงทุนในหุ้น ยังเป็นที่สนใจของนักลงทุน หลายคนยังคงลงทุนในหุ้นอย่างต่อเนื่อง เรามาดูว่าเพราะอะไร หุ้นจึงยังคงเป็นที่สนใจอยู่

1. การลงทุนในหุ้นให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจ ทั้งในรูปแบบเงินปันผล (Dividend) และกำไรจากการขายหุ้น (Capital Gain) นอกจากนี้ยังมีผลตอบแทนการลงทุนรูปแบบอื่นๆ เช่น สิทธิในการจองซื้อหุ้นออกใหม่ (Subscription Right) โดยกรณีที่บริษัทที่ต้องการออกหุ้นเพื่อเพิ่มทุน บริษัทจะให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นเดิมในการซื้อหุ้นที่ออกใหม่ก่อนบุคคลภายนอกในราคาที่กำหนด ซึ่งการให้สิทธิเช่นนี้เป็นการปกป้องผู้ถือหุ้นเดิม ไม่ให้สัดส่วนความเป็นเจ้าของ และอำนาจการควบคุมกิจการลดน้อยลง เมื่อมีจำนวนหุ้นออกจำหน่ายมากขึ้น

2. ลงทุนในหุ้นจะได้การมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกิจการ ตามสัดส่วนการถือครอง โดยผู้ลงทุนสามารถเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อลงคะแนนเสียงในการตัดสินใจในปัญหาสำคัญๆ ของบริษัท เช่น เมื่อบริษัทจะเพิ่มทุน จ่ายเงินปันผล ควบรวมกิจการ เป็นต้น

3. ลงทุนในหุ้น ทำให้มีสภาพคล่องเมื่อต้องการเปลี่ยนเป็นเงินสด เนื่องจากมีตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทหลักทรัพย์ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ทำให้ผู้ลงทุนสามารถซื้อขายหุ้นหรือเปลี่ยนมือในการถือหุ้นได้อย่างสะดวก และคล่องตัว ในราคาที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างพึงพอใจ มีการส่งมอบค่าหุ้น และโอนความเป็นเจ้าของหุ้นตรงตามกำหนดเวลา อย่างไรก็ตาม หุ้นของแต่ละบริษัท อาจมีสภาพคล่องที่แตกต่างกัน โดยหุ้นบางบริษัทที่ได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนจะซื้อง่าย ขายคล่อง ในขณะที่หุ้นของบางบริษัทที่ไม่ค่อยมีผู้สนใจก็อาจจะหาผู้ซื้อขายได้ยากกว่า