อยากไป ทํา งานที่ ส วิ ต เซอร์ แลนด์ ต้องทำ ไง

          ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวรฯ ณ นครเจนีวา ไม่พบว่ามีแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานที่สวิตเซอร์แลนด์ โดยตรง คนไทยที่ทำงานอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ส่วนใหญ่เป็นคนไทยที่เกิดในประเทศสวิตเซอร์แลนด์หรือมีบิดามารดาและคู่สมรส หรือญาติที่มีภูมิลำเนาในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และนักศึกษาที่ทำงานบางเวลา ทั้งนี้ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ไม่มีนโยบายนำเข้าแรงงานจากต่างชาติ และการอนุญาตให้แรงงานในสหภาพยุโรปสามารถเข้ามาทำงานได้ค่อนข้าง เป็นอิสระ จึงไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้าแรงงานจากประเทศอื่นๆ ประกอบกับข้อบังคับด้านแรงงานและสวัสดิการ ที่เข้มงวดทำให้การส่งคนงานเข้าไปทำงานในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ทำได้ยากและมีค่าใช้จ่ายสูง

 ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวาได้ติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวด้านแรงงานในสมาพันธรัฐสวิส และขอรายงานข้อมูลจากศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น ในหัวข้อ สวิตเซอร์แลนด์ปรับกฎหมายแรงงานใหม่ ดังนี้

๑. สืบเนื่องจากผลประชามติของสมาพันธรัฐสวิส เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๗ เรื่องพัฒนาการของการแก้ไขกฎหมายของสมาพันธ์ เพื่อกำหนดให้แรงงานสวิสได้รับการพิจารณาในการจ้างงานเป็นอันดับแรกก่อน ซึ่งเห็นชอบให้จำกัดโควตาชาวต่างชาติที่มาทำงานและอยู่อาศัยในสมาพันธ์ โดยมีเป้าหมายหลักคือ การจำกัดจำนวนประชาชนจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (European Union – EU) ที่เข้ามาทำงานและอยู่อาศัยในสมาพันธรัฐสวิสเป็นจำนวนมาก รัฐบาลสมาพันธรัฐสวิสจึงจำเป็นต้องดำเนินมาตรการให้สอดคล้องกับผลประชามติดังกล่าว อันส่งผลกระทบต่อความตกลงว่าด้วยการเคลื่อนย้ายประชากรอย่างเสรีระหว่างสมาพันธรัฐสวิสกับสหภาพยุโรป

๒. เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๖๐ รัฐสภาสวิสได้มีมติเห็นชอบให้แก้ไขมาตรา 21a ของ Federal Act on Foreign Nationals โดยให้รัฐบาลเป็นผู้กำหนดมาตรการสนับสนุนนการจ้างแรงงานชาวสวิสอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

๓. เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๑ รัฐบาลสมาพันธรัฐสวิสได้แก้ไขกฎหมายแรงงานเพิ่มเติมมาตรา 53a ของ Federal Ordinance on Employment Services and Personnel Lending โดยกำหนดแนวปฏิบัติใหม่สำหรับนายจ้างกรณีมีตำแหน่งว่างลง เพื่อส่งเสริมการจ้างแรงงานชาวสวิส และให้มาตรการดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๑ เป็นต้นไป มีสาระสำคัญดังนี้
   – นายจ้างในสมาพันธ์จะต้องแจ้งสำนักงานจัดหางานส่วนภูมิภาค (Regional Employment Agencies – RAV) เมื่อมีตำแหน่งงานว่างสำหรับการจ้างงานใน ๑๙ สายอาชีพ ซึ่งกำหนดโดย State Secretariat for Economic Affairs (SECO) ประกอบด้วย
        ๑. ผู้ช่วยด้านเกษตร (Agricultural helper)
        ๒. อาชีพด้านการทำนาฬิกา (Other watchmaking professions)
        ๓. คนงานในร้านและงานแรงงาน (Shop Workers and manual workers)
        ๔. อาชีพด้านการประกอบและการผลิต (Other processing and manufacturing professions)
        ๕. คนงานผสมปูนและคนงานก่อสร้างปูนซีเมนต์ (Cement mixers and cement construction workers)
        ๖. อาชีพอื่นๆ ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง (Other professions in construction industry)
        ๗. ช่างโบกปูนและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง (Plasters and related activities)
        ๘. คนงานหุ้มฉนวนความร้อน (Insulation Workers)
        ๙. ผู้เชี่ยวชาญด้านประชาสัมพันธ์ (Public relations specialists)
        ๑๐. ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด (Marketing specialists)
        ๑๑. คนส่งเอกสารและสิ่งของ (Messenger and errand runner)
        ๑๒. พนักงานรับโทรศัพท์ (Telephone operators)
        ๑๓. พนักงานต้อนรับ (Receptionists)
        ๑๔. พนักงานบริการ (Service staff)
        ๑๕. คนรับใช้ พนักงานซักทำความสะอาด คนดูและเด็กและคนชรา (Maids, lingerie staff and caretaker)
        ๑๖. พนักงานในครัว (Kitchen staff)
        ๑๗. คนงานทำงานบ้าน (House workers)
        ๑๘. นักแสดง (Actors) 
        ๑๙. คนงานกรรมกรทั่วไป (Undefined manual Workers)
   – การกำหนด ๑๙ สายอาชีพดังกล่าวมีพื้นฐานจากสถิติข้อมูลการว่างงานระหว่างวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๐ – ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๑ ซึ่งพบว่าสายอาชีพดังกล่าวมีอัตราการว่างงานมากกว่าร้อยละ ๘ โดยมาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๑ – ๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๒ ทั้งนี้ ทางการสวิสจะพิจารณาทบทวนและอาจมีการปรับเปลี่ยนรายการสายอาชีพภายใต้มาตรการดังกล่าวอีกครั้งหนึ่งสำหรับช่วงตั้งแต่ ๑ มกราคม ๒๕๖๒ เป็นต้นไป 
   – เมื่อนายจ้างได้แจ้งตำแหน่งงานที่ว่างลงต่อสำนักงานจัดหางานส่วนภูมิภาคแล้ว หลังจากนั้นอีก ๕ วัน นายจ้างจึงจะสามารถประกาศโฆษณาตำแหน่งงานที่ว่างดังกลาวในเว็บไซต์ของบริษัทหรือผ่านบริษัทตัวแทนจัดหางานได้
   – เมื่อสำนักงานจัดหางานส่วนภูมิภาคได้รับข้อมูลจากนายจ้างแล้วสำนักงานจัดหางานส่วนภูมิภาคจะส่งประกาศรับสมัครงานดังกล่าวให้แก่ผู้ว่างงานชาวสวิสที่ลงทะเบียนไว้ และจะต้องส่งข้อมูลของผู้สมัครชาวสวิสที่เหมาะสมกับตำแหน่งดังกล่าวให้นายจ้างภายใน ๓ วัน
   – อย่างไรก็ดี กฎหมายมิได้กำหนดบังคับให้นายจ้างต้องจ้างชาวสวิสตามที่ได้รับแจ้งจากสำนักงานจัดหางานส่วนภูมิภาคและไม่ได้กำหนดให้นายจ้างชี้แจงเหตุผลในการปฏิเสธรับชาวสวิสเข้าทำงาน
   – หากนายจ้างไม่แจ้งตำแหน่งงานที่ว่างต่อสำนักงานจัดหางานส่วนภูมิภาค อาจถูกปรับ เป็นจำนวนเงินสูงสุดถึง ๔ หมื่นฟรังก์สวิสการแก้ไขเพิ่มเติมของกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อนายจ้างในภาคอุตสาหกรรมนาฬิกา โรงแรม การก่อสร้าง อาหาร การตลาด งานประชาสัมพันธ์ และภาคการเกษตร ซึ่งจะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการจ้างงานภายในองค์กรและต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการที่เพิ่มขึ้น

๔. ในการแก้ไขกฎหมายการจ้างงานของสมาพันธ์นั้น สาขาอาชีพที่ประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบ คือ ธุรกิจร้านอาหาร โดยผู้ประกอบการร้านอาหารไทยจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายและขั้นตอนการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น หากต้องการจ้างแรงงานจากประเทศไทย ในขณะที่ปัจจุบันก็มีข้อจำกัดจากนโยบายของรัฐบาลสวิสที่ให้ความสำคัญลำดับแรกกับการจ้างงานชาวสวิส ตามด้วยประชากรของสหภาพยุโรป และสมาคมการค้าเสรียุโรป (European Free Trade Association – EFTA) ก่อนการจ้างงานจากประเทศที่ ๓ และกฎหมายสวิสกำหนดให้เฉพาะร้านอาหารที่มีขนาดตั้งแต่ ๕๐ ที่นั่งขึ้นไปจึงจะสามารถนำเข้าแรงงานพ่อครัวแม่ครัวจากต่างประเทศได้ โดยขึ้นอยู่กับการพิจารณาอนุญาตภายใต้โควตาของทางการท้องถิ่นระดับรัฐด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบันแรงงานไทยในร้านอาหารไทยในสวิสส่วนใหญ่เป็นชาวไทยสัญชาติสวิสหรือชาวไทยที่มีถิ่นพำนักถาวรในสมาพันธรัฐสวิสอยู่แล้ว