นโยบายกระทรวงศึกษาธิการ 2565 ตรีนุช

"ตรีนุช" มอบนโยบายเปิดภาคเรียนที่ 2/2565 เข้ม 3ป. ครอบคลุมทุกมิติ

เมื่อวันที่1 พ.ย.2565 ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศึกษาธิการ) กล่าวตอนหนึ่งในการมอบนโยบายเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 ให้แก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)และ ผู้อำนวยการโรงเรียนทั่วประเทศ ผ่าน OBEC Channel ว่า ดิฉันต้องขอบคุณทุกคนที่ได้นำนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ นำไปปฏิบัติจนเกิดผลสำเร็จและมีความคืบหน้าตามลำดับ ซึ่งในโอกาสเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 ตนขอเน้นย้ำการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาที่สำคัญในการดูแลพัฒนาการของนักเรียนอย่างเป็นองค์รวม ได้แก่ ความปลอดภัยในสถานศึกษา ทั้งด้านการเดินทางไป-กลับของนักเรียน การจัดสภาพแวดล้อมสถานศึกษาให้ปลอดภัย การให้บริการดูแลด้านโภชนาการ และสุขภาพ การป้องกันภัยธรรมชาติ และที่สำคัญ คือ การป้องกันภัยจากยาเสพติด และภัยจากอาวุธปืน ซึ่งต้องไม่เกิดขึ้นในสถานศึกษาอย่างเด็ดขาด และต้องปฏิบัติอย่างเข้มข้น ตามหลัก 3 ป. ได้แก่ ป้องกัน ปลูกฝัง และ ปราบปราม ภายใต้โครงการ MOE Safety Center เพื่อสร้างความปลอดภัยให้นักศึกษา ครู และบุคลากรทุกคน

รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก!!!

โพสเมื่อ : 01 พ.ย. 2565,16:13   อ่าน 131 ครั้ง

3 พฤศจิกายน 2565 ที่โรงแรมเคพี แกรนด์ จังหวัดจันทบุรี / นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนนโยบายการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในระดับพื้นที่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมีปลัด ศธ., ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี, รองปลัด ศธ., ผู้ช่วยปลัด ศธ., ผู้ตรวจราชการ ศธ., ศึกษาธิการภาค, ศึกษาธิการจังหวัด, ผู้บริหารระดับสำนัก และผู้บริหารการศึกษาในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี เข้าร่วมประชุม

“รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาการศึกษาของชาติ เน้นแนวทางการพัฒนาระบบบริหารงานราชการให้มีความคล่องตัว รวดเร็ว โปร่งใส ,เน้นการกระจายอำนาจสู่ระดับภูมิภาค เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานและให้การบริหารราชการประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย ซึ่ง ศธ.ได้นำมากำหนดเป็นนโยบาย และจุดเน้นหลัก ที่ต้องการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารและการจัดการศึกษา โดยการส่งเสริม สนับสนุนสถานศึกษาให้มีความเป็นอิสระและคล่องตัว มีการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาโดยใช้จังหวัดเป็นฐาน รวมถึงการจัดโครงสร้างหน่วยงานให้เอื้อต่อการจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ”

ขณะเดียวกันมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งการแก้ไขกฎหมายนี้ จะมีผลในการถ่ายโอนภารกิจงานด้านการบริหารงานบุคคลไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และมีผลต่อการปรับบทบาทของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และสำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.) สู่บทบาทใหม่ ที่มุ่งให้ความสำคัญต่อการกำหนดนโยบาย จัดทำแผนงาน และการส่งเสริมสนับสนุนด้านการศึกษา รวมถึงการติดตาม และประเมินผลสำเร็จของการปฏิบัติงาน

ซึ่งเป็นการปรับบทบาทหน้าที่ ให้มีความเข้มข้นในการยกระดับคุณภาพทางการศึกษา เป็นการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานที่จัดการศึกษาในจังหวัด โดยเครื่องมือหนึ่ง ที่สามารถนำมาใช้สำหรับการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้อย่างชัดเจน คือ การจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาในระดับภาค และระดับจังหวัด ที่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ โดยกำหนดทิศทางการศึกษาร่วมกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดว่าทิศทางการศึกษาจังหวัดของตนจะเป็นอย่างไร ก็จะทำให้ตอบโจทย์การศึกษานำไปสู่เป้าหมายที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน ศธภ. ต้องแสดงบทบาทนำของตนอย่างแข็งแรง เพื่อเป็นกำลังสำคัญในฐานะผู้แทนของกระทรวงในพื้นที่ รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ในการติดตาม และตรวจสอบการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อวัดผลความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้นวันนี้ ศธจ. และ ศธภ. จะเป็นเหมือนเข็มทิศการศึกษา หาทิศทางการศึกษาของแต่ละพื้นที่โดยไม่เดินหน้าไปแบบไร้ทิศทาง ตลอดจนติดตามผลว่ามีปัญหาอะไร และจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง

นโยบายกระทรวงศึกษาธิการ 2565 ตรีนุช

นางสาวตรีนุช กล่าวด้วยว่า นโยบายสำคัญที่ยังต้องเดินหน้าเพื่อการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส และความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งศึกษาธิการจังหวัด สามารถเป็นผู้แทนของ ศธ. ในการทำงานร่วมกับหน่วยงานในจังหวัด เพื่อผลักดันให้นโยบายสำคัญประสบความสำเร็จ ได้แก่ โครงการพาน้องกลับมาเรียน โดยนำข้อมูลการสำรวจเด็กนักเรียนมาจัดทำข้อเสนอ เพื่อบูรณาการความช่วยเหลือเด็ก โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเสี่ยงที่ประสบปัญหาขาดแคลน เพื่อป้องกันเด็กนักเรียนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา, โครงการความปลอดภัยในสถานศึกษา รวมถึงการติดตามเฝ้าระวังปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และการฉีดวัคซีนในเด็ก แม้จะมีการปรับให้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง และการแก้ไขปัญหาภาวการณ์เรียนรู้ถดถอย ซึ่งสามารถนำรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เป็น Best Practice มาแลกเปลี่ยน และแบ่งปันระหว่างสถานศึกษาได้ รวมถึงการนำผลงานเด่น ๆ ด้านการศึกษาของนักเรียน มาพัฒนาและต่อยอดให้เป็นนวัตกรรมด้าน Soft Power ของจังหวัดหรือพื้นที่ของตนเอง

“เมื่อมีการแก้ไขกฎหมายคำสั่ง คสช. กระทรวงศึกษาธิการต้องเตรียมความพร้อมในการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง บทบาทหน้าที่ และปรับเปลี่ยนตัวบุคคล โดยดิฉันพร้อมที่จะสนับสนุนเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน ที่จะรองรับภารกิจหลักได้อย่างเต็มที่ หวังว่าทุกส่วนราชการในสังกัด ศธ. ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ที่ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ร่วมมือร่วมใจกันในการนำนโยบายและจุดเน้นการจัดการศึกษา ไปขับเคลื่อนให้เกิดผลผลิตและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม เป็นคนกลางในการประสานความร่วมมือกับส่วนราชการอื่นๆ เพื่อยกระดับการบริหารจัดการศึกษาให้เป็นวาระสำคัญในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนให้ความสำคัญกับกระบวนการทำงานให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายข้างต้น” รมว.ศธ. กล่าว