ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-เวียดนาม กัมพูชา

20 ธันวาคม 2018

ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-เวียดนาม กัมพูชา

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

ทหารเวียดนามควบคุมตัวเชลยสงครามของเขมรแดง ซึ่งถูกจับกุมในเวียดนามเมื่อเดือน ส.ค. 1978

โดย เจินโบราน จันบอใด

นักวิชาการระดับปริญญาเอก ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย

เดือนธันวาคมปีนี้นับเป็นวาระครบรอบ 40 ปีของเหตุการณ์ที่เวียดนามยกกำลังทหารเข้าไปในกัมพูชา ซึ่งเหตุดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นในปี 1978 ตามมาด้วยการเข้ายึดครองประเทศกัมพูชาอย่างยาวนานจนถึงเดือนกันยายน ปี 1989

การที่เวียดนามใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซงในครั้งนั้น ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างขวางทั้งในกัมพูชาและในต่างประเทศ สำหรับบางคนแล้วเหตุการณ์นี้ถือได้ว่าเป็นการรุกรานกัมพูชาอย่างไม่ต้องสงสัย แต่บางคนกลับมองว่าเป็นการปลดปล่อยชาวกัมพูชาจากระบอบการปกครองอันโหดร้ายของพอล พต ซึ่งมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้น

เวียดนามใช้กำลังทหารแทรกแซงกัมพูชา ปลดปล่อยหรือรุกราน?

อาจกล่าวได้ว่าการแทรกแซงทางทหารของเวียดนามเกิดขึ้นด้วยเหตุผลสองประการ ราล์ฟ เอมเมอร์ส นักวิชาการด้านเอเชียศึกษาได้ระบุไว้ว่า "เป็นเพราะความทะเยอทะยานต้องการครองอำนาจนำเหนือภูมิภาคอินโดจีน ทั้งยังเป็นแผนการป้องกันประเทศของตนเอง" เวียดนามจึงดำเนินปฏิบัติการต่อต้านรัฐบาลกัมพูชาประชาธิปไตยหรือเขมรแดง ซึ่งขณะนั้นมีสาธารณรัฐประชาชนจีนคอยหนุนหลังอยู่

อันที่จริงแล้ว ในทันทีที่เขมรแดงเข้ายึดครองกรุงพนมเปญได้ เมื่อวันที่ 17 เมษายน 1975 รัฐบาลเขมรแดงกับเวียดนามก็เริ่มหวาดระแวงไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้ทั้งสองจะเคยเป็นพันธมิตรกันมาก่อนในช่วงที่ต่อสู้เพื่อระบอบคอมมิวนิสต์ในระยะเริ่มแรกก็ตาม

  • 43 ปีสงครามเวียดนาม : "ผมรับจ้างฝรั่งไปรังแกเขา"
  • เวียดนามอพยพ: อนาคตมืดมนของ มองตานญาด ชนกลุ่มน้อยนับถือคริสต์หนีตายมาอยู่อย่างไร้สถานะในไทย

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

เขมรแดงเข้ายึดครองกรุงพนมเปญได้เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 1975 และครองอำนาจจนถึง 1979

ผู้นำเขมรแดงไม่เคยไว้ใจเวียดนาม เนื่องด้วยประเด็นปัญหาเรื่องพรมแดน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องแผนยุทธศาสตร์ของเวียดนามที่มุ่งก่อตั้ง "สหพันธรัฐอินโดจีน" ซึ่งอาจผนวกเอาลาวและกัมพูชาเข้าไว้ด้วย

เมื่อความไว้เนื้อเชื่อใจที่มีต่อกันพังทลายลง เหตุปะทะตามแนวพรมแดนระหว่างสองประเทศก็ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ สถานการณ์ดังกล่าวประสบกับความยุ่งยากซับซ้อนขึ้นไปอีก เมื่อพอล พต เล็งเห็นว่าชนกลุ่มน้อยเชื้อสายเขมรที่อาศัยอยู่ตรงบริเวณที่ราบต่ำทางตอนใต้ของเวียดนาม หรือที่เรียกกันว่า "ขแมร์กรอม" นั้นอาจลุกฮือขึ้นล้มล้างการปกครองของเวียดนาม และกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกัมพูชาซึ่งเป็นแผ่นดินแม่ได้

ยิ่งไปกว่านั้น สาธารณรัฐประชาชนจีนยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมก้าวร้าวไม่เป็นมิตรของเขมรแดงที่มีต่อเวียดนามอีกด้วย เดวิด แชนด์เลอร์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์กัมพูชาระบุว่า ในสายตาของบรรดาผู้นำจีนแล้ว เวียดนามถูกมองว่าเป็น "ภัยคุกคามจากพวกหนุนสหภาพโซเวียต ซึ่งตั้งอยู่ประชิดติดแนวพรมแดนทางตอนใต้"

ส่วนเขมรแดงนั้นจีนมองว่าเป็น "พันธมิตรหัวรุนแรงที่อาจกลายเป็นแนวร่วมเดียวกันได้ง่าย" ด้วยเหตุนี้ จีนจึงเริ่มส่งเสบียงอาวุธ เครื่องกระสุน และยุทโธปกรณ์อื่น ๆ อีกจำนวนมากให้กับเขมรแดง

ภายใต้บริบทของสถานการณ์ดังกล่าว การที่พอล พต เดินทางเยือนจีนในปี 1977 จึงถือว่าเป็นความพยายามเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลจีนและรัฐบาลเขมรแดงให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และเท่ากับเป็นภัยคุกคามทางยุทธศาสตร์ต่อเวียดนามอย่างชัดเจน

เพื่อตอบโต้การโจมตีจากเขมรแดง เวียดนามเปิดฉากปฏิบัติการทางทหารขึ้นในกลางเดือน ธ.ค.ปี 1977 และลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพ 25 ปีกับสหภาพโซเวียตเมื่อเดือน พ.ย. ปี 1978 เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจและรับมือภัยคุกคามจากจีน ในขณะเดียวกัน เวียดนามยังหนุนผู้แปรพักตร์จากรัฐบาลเขมรแดงบางรายให้ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในนามของแนวร่วมกอบกู้ชาติกัมพูชา หรือ UFNSK อีกด้วย

ในวันคริสต์มาสของปี 1978 รัฐบาลพลัดถิ่น UFNSK ที่มีกองกำลังทหารเวียดนาม 1 แสนนายคอยสนับสนุน บุกเข้าโจมตีกองกำลังเขมรแดงในหลายแนวรบด้วยกัน จนฝ่ายหลังต้องล่าถอยออกจากกรุงพนมเปญในวันที่ 7 ม.ค. 1979 เหตุการณ์นี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบแห่งระบอบเขมรแดงในกัมพูชา

นับแต่นั้นเป็นต้นมา วันที่ 7 ม.ค. ของทุกปีจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) อันเป็นพรรครัฐบาลผู้สืบทอดอำนาจโดยตรงจาก UFNSK โดยถือว่าเป็นวัน "กำเนิดใหม่" หรือวันเกิดครั้งที่สองของประชาชนชาวกัมพูชา นายกรัฐมนตรีฮุน เซน เองนั้นถึงกับเคยกล่าวว่า "การเฉลิมฉลองและรำลึกถึงวันที่ 7 ม.ค. ไม่ได้มีไว้สำหรับพรรคประชาชนกัมพูชาเท่านั้น แต่เป็นของประชาชนทั่วไปด้วย เพราะมันคือขบวนการอันยิ่งใหญ่ที่ปลดปล่อยชาติและชีวิตของชาวกัมพูชา"

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าชาวกัมพูชาทุกคนจะให้ความสำคัญกับวันแห่งประวัติศาสตร์ตามที่ผู้นำประเทศได้กล่าวไว้ บรรดาฝ่ายค้านและผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์พรรคประชาชนกัมพูชาต่างตั้งคำถามเป็นเชิงยั่วยุว่า วันที่ 7 ม.ค.นั้นเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองอิสรภาพและการมีชีวิตรอด หรือเป็นวันรำลึกถึงชัยชนะของเวียดนามในการเข้ารุกรานและยึดครองกัมพูชากันแน่ ? คำถามนี้จะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันทุกครั้ง เมื่อถึงวาระครบรอบการเฉลิมฉลองวันที่ 7 ม.ค. ในทุกปี

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

ทหารเวียดนามกับรถถังที่ผลิตจากสหภาพโซเวียต ในกัมพูชาเมื่อปี 1979

การที่เวียดนามยกกำลังทหารบุกเข้าดินแดนของกัมพูชานั้น ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและชาติสมาชิกของอาเซียนแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม โดยเฉพาะกับไทยที่มองว่าปฏิบัติการทางทหารของเวียดนามในกัมพูชานั้นเป็นภัยคุกคามอย่างโจ่งแจ้ง โดยในช่วงใกล้สิ้นปี 1979 ไทยได้ให้ที่พักพิงกับขบวนการต่อต้านรัฐบาลเวียดนามไปแล้วหลายกลุ่ม ซึ่งล้วนแต่ได้รับการสนับสนุนจากจีน สหรัฐฯ และอาเซียนทั้งสิ้น

แต่ความเคลื่อนไหวดังกล่าวกลับกลายเป็นข้ออ้างให้กองกำลังเวียดนามประวิงเวลาดำเนินภารกิจในกัมพูชาให้ยืดเยื้อยาวนานออกไปอีก อย่างไรก็ตาม แรงกดดันจากรอบด้านทำให้เวียดนามต้องถอนทหารออกจากกัมพูชาในที่สุด เมื่อเดือนกันยายน ปี 1989 และหลังจากนั้นไม่นานได้มีการลงนามข้อตกลงสันติภาพกรุงปารีส ในวันที่ 23 ต.ค. 1991 ซึ่งนำไปสู่การประจำการกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในกัมพูชา (UNTAC) เพื่อควบคุมให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามข้อตกลงสันติภาพ และจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ในวันที่ 23 พ.ค. 1993 ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การสถาปนา "ราชอาณาจักรกัมพูชาใหม่" ขึ้นอย่างเป็นทางการ

ความสัมพันธ์กัมพูชา-เวียดนาม นับแต่ปี 1993 เป็นต้นมา

หลังจากสิ้นสุดปฏิบัติการรักษาสันติภาพของกองกำลังสหประชาชาติไปแล้ว กัมพูชาพยายามที่จะรักษาความสัมพันธ์ฉันมิตรกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งรวมถึงเวียดนามด้วย อันที่จริงแล้ว รัฐบาลกัมพูชาชุดใหม่ได้ให้ความสำคัญต่อสายสัมพันธ์ที่มีอยู่กับเวียดนามอย่างมาก เพราะยังคงได้รับผลประโยชน์จากการสนับสนุนและความร่วมมือหลายด้าน เช่นในเหตุการณ์วันที่ 5-6 ก.ค. 1997 ที่กองกำลังของพรรคประชาชนกัมพูชาปะทะกับกองกำลังของพรรคฟุนซินเปกซึ่งภักดีต่อสถาบันกษัตริย์กลางกรุงพนมเปญ

เวียดนามแสดงจุดยืนต่อเหตุการณ์ดังกล่าวต่างไปจากชาติสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ เช่นไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์อย่างมาก โดยเวียดนามไม่ออกแถลงการณ์ประณามเหตุวิกฤตที่เกิดขึ้น แต่กลับระบุเพียงว่า "เวียดนามต้องการเห็นกัมพูชามีสันติสุขและเสถียรภาพ"

ยิ่งไปกว่านั้น มีรายงานว่าเวียดนามคือผู้สนับสนุนรายใหญ่ที่พยายามผลักดันให้กัมพูชาได้เข้าเป็นสมาชิกอาเซียนโดยเร็วที่สุด หลังจากการพิจารณาเรื่องสมาชิกภาพของกัมพูชาถูกระงับไปเพราะเหตุการณ์เดือน ก.ค. ปี 1997 แต่ในท้ายที่สุดแล้วกัมพูชาก็ได้เข้าเป็นสมาชิกชาติที่ 10 ของอาเซียน เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 1999 ระหว่างการประชุมของบรรดาชาติสมาชิกที่กรุงฮานอย

เวียดนามใช้โอกาสที่ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและกัมพูชาเกิดความร้าวฉานขึ้นในปี 2003 เข้าแผ่ขยายอิทธิพลในกัมพูชาอีกครั้ง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อชาวกัมพูชาจำนวนมากก่อเหตุจลาจลในแถบย่านการค้าของคนไทยกลางกรุงพนมเปญ หลังมีกระแสข่าวเล่าลือว่าดาราสาวไทยคนดังกล่าวว่า "นครวัดเป็นของประเทศไทย" ทำให้ชาวกัมพูชาโกรธแค้น

หลังเหตุจลาจลสงบลง กระแสต่อต้านไทยที่ยังคุกรุ่นทำให้รัฐบาลกัมพูชามีคำสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ไทยหรือจัดการแสดงวัฒนธรรมไทยในทุกช่องทาง รวมทั้งมีการรณรงค์ไม่ซื้อสินค้าไทย แต่ในทางตรงกันข้าม ความสัมพันธ์ทางการค้าและการเมืองระหว่างกัมพูชาและเวียดนามกลับได้รับการสนับสนุนให้เฟื่องฟูขึ้นมาแทน

คำบรรยายวิดีโอ,

กัมพูชา ฉลองครบรอบ 40 ปี เขมรแดงปราชัย

สองปีต่อมารัฐบาลเวียดนามและกัมพูชาต่างเห็นพ้องให้รับเอาหลักการ "ความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี มิตรภาพเก่าแก่ ความร่วมมืออย่างครอบคลุมทุกด้านในระยะยาว" มาเป็นกรอบแนวทางในการดำเนินความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสองประเทศ โดยมีการลงนามในสนธิสัญญาฉบับเพิ่มเติมว่าด้วยแนวพรมแดน ซึ่งปูพื้นฐานไปสู่การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนร่วมกัน ส่งผลให้มูลค่าของการค้าทวิภาคีเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 184 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2011 สู่ 940 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2006

ความสำเร็จนี้ทำให้เวียดนามกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสามของกัมพูชาในภูมิภาคอาเซียน ทั้งยังเป็นผู้ลงทุนจากต่างประเทศรายใหญ่อันดับสิบ ซึ่งมีการลงทุนในกัมพูชาทั้งสิ้นถึง 114 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2007

เมื่อเวียดนามและกัมพูชาฉลองครบรอบการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต 50 ปี ในปี 2017 มูลค่าการค้าทวิภาคีพุ่งทะยานขึ้นไปถึงระดับ 3,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และที่สำคัญเวียดนามได้กลายมาเป็นแหล่งเงินเพื่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ใหญ่ที่สุดภายในภูมิภาคอาเซียนของกัมพูชา ทั้งยังเป็นผู้ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศรายใหญ่อันดับสองเมื่อเทียบกับทุกประเทศทั่วโลกด้วย โดยมูลค่าของ FDI จากเวียดนามที่ลงทุนในกัมพูชานั้นสูงถึง 582 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับความสัมพันธ์ทางการทูตนั้น เวียดนามและกัมพูชายังคงรักษาและส่งเสริมสายสัมพันธ์ทวิภาคีเอาไว้เป็นอย่างดี ผ่านการแลกเปลี่ยนและพบปะเยี่ยมเยือนระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งสองฝ่ายที่มีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังมีการช่วยเหลือและสนับสนุนกันและกันในเวทีการเมืองระดับภูมิภาคและในระดับนานาชาติ

ข้อจำกัดในความสัมพันธ์ทวิภาคี

แม้ความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนจะดูสดใส แต่ไม่นานมานี้กลับมีสัญญาณเตือนที่แสดงให้เห็นว่า ความสัมพันธ์เวียดนาม-กัมพูชาอาจไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิดในทุกด้าน สัญญาณของความตึงเครียดที่ว่านี้เริ่มฉายแววให้เห็นมาตั้งแต่ปี 2012 อาจสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงแผนยุทธศาสตร์ของแต่ละฝ่ายที่เริ่มจะไม่สอดคล้องต้องกัน ทำให้ความหวาดระแวงไม่ไว้ใจฝ่ายตรงข้ามหวนกลับคืนมาอีก นอกจากนี้ ประเด็นอ่อนไหวอย่างกรณีพิพาทเรื่องแนวพรมแดน รวมทั้งปัญหาชนกลุ่มน้อยเชื้อสายเวียดนามในกัมพูชา ยังทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นเป็นระยะ

กลยุทธ์ดำเนินนโยบายต่างประเทศที่แตกต่าง

หากพิจารณาในเชิงยุทธศาสตร์แล้ว เมื่อไม่นานมานี้เวียดนามและกัมพูชาต่างเลือกดำเนินนโยบายที่แตกต่างกัน เพื่อรับมือกับสภาพการณ์ด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เวียดนามนั้นมุ่งต่อต้านการก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจของจีน โดยหันไปกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการป้องกันประเทศกับสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอินเดียแทน

เวียดนามยังเป็นฝ่ายรุกในการใช้เวทีความสัมพันธ์พหุภาคีในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงเวทีอาเซียนเป็นเครื่องมือในแผนกลยุทธ์ที่ใช้การถ่วงดุลเชิงสถาบันต่อต้านภัยคุกคามจากจีน แต่ในทางตรงข้าม กัมพูชากลับพึ่งพาอาศัยจีนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในด้านความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการป้องกันประเทศ

ความขัดแย้งเรื่องแนวพรมแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาในช่วงปี 2008-2011 ยิ่งผลักดันให้กัมพูชาสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับจีนอย่างแน่นแฟ้นมากขึ้น เนื่องจากกัมพูชาหันมามองว่าไทยเป็นภัยคุกคามอีกครั้ง ประกอบกับเริ่มหมดความเชื่อมั่นต่อสถาบันระดับภูมิภาคอย่างอาเซียนด้วย

เป็นที่น่าสนใจว่าเวียดนามและกัมพูชาแสดงท่าทีของตนต่อกรณีพิพาททะเลจีนใต้ต่างกันออกไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งกรณีนี้มีจีนและ 4 ชาติสมาชิกอาเซียน รวมทั้งเวียดนามเองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ส่วนกัมพูชาซึ่งเป็นชาติที่ไม่ได้อ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำพิพาทดังกล่าว ไม่ต้องการให้เรื่องนี้เข้ามามีอิทธิพลครอบงำการทูตพหุภาคีในภูมิภาค ซึ่งอาจทำให้จีนไม่พอใจและทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีน-อาเซียนได้

ที่มาของภาพ, Jean-Claude LABBE

คำบรรยายภาพ,

ทหารเวียดนามที่พรมแดนจังหวัดอานซางของเวียดนาม เดินทัพเข้าสู่เขตแดนของกัมพูชาเมื่อวันที่ 1 เดือน ม.ค. 1979

ด้วยเหตุนี้กัมพูชาจึงปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกับเวียดนามและชาติสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ในการยกระดับให้กรณีพิพาททะเลจีนใต้กลายเป็นปัญหาในระดับนานาชาติ ซึ่งท่าทีของกัมพูชาในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่กรุงพนมเปญเมื่อปี 2012 ถึงกับทำให้อาเซียนต้องพบกับทางตัน เมื่อไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมที่มีเนื้อหาพาดพิงถึงจีนได้ เหตุการณ์นี้ถึงกับทำให้เวียดนามและกัมพูชาต่างออกมาแสดงความผิดหวังต่ออีกฝ่ายอย่างชัดเจน

ความขัดแย้งเรื่องแนวพรมแดนและผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมายชาวเวียดนามในกัมพูชา

โดยทั่วไปแล้ว ความกลัวและหวาดระแวงเวียดนามของคนกัมพูชานั้นฝังรากลึกมาตั้งแต่ยุคที่ราชวงศ์เหวียนแผ่ขยายอิทธิพลลงมาทางใต้ในศตวรรษที่ 18 ส่วนในปัจจุบันกระแสต่อต้านชาวเวียดนามก็ยังคงเป็นประเด็นร้อนแรงของการเมืองกัมพูชา เนื่องจากข้อกล่าวหาเรื่องรุกล้ำดินแดนและปัญหาของกลุ่มชนเชื้อสายเวียดนามในราชอาณาจักร โดยนักการเมืองกัมพูชาซึ่งส่วนมากเป็นฝ่ายค้าน มักฉกฉวยโอกาสใช้ประโยชน์จากวาทกรรมที่มุ่งโจมตีเวียดนามอยู่เสมอ

ประเด็นพิพาทเรื่องแนวพรมแดนระหว่างเวียดนาม-กัมพูชา กลับปะทุขึ้นมาอีกครั้งหลังการเลือกตั้งปี 2013 เมื่อพรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) ซึ่งเป็นอดีตพรรคฝ่ายค้าน กล่าวหาพรรคประชาชนกัมพูชาในขณะนั้นว่า ทำให้ประเทศชาติต้องเสียดินแดนไปให้กับเวียดนาม และอ้างว่าสนธิสัญญาฉบับเพิ่มเติมว่าด้วยแนวพรมแดนที่กัมพูชาทำไว้กับเวียดนามเมื่อปี 2005 นั้นขัดรัฐธรรมนูญ

ในเดือนมิถุนายน ปี 2015 กระแสความขัดแย้งดังกล่าวทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายสิบคน หลังเกิดการปะทะระหว่างกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่มี ส.ส.กัมพูชาสองคนเป็นผู้นำและมีพระสงฆ์อยู่ด้วยหลายรูป กับกลุ่มของเจ้าหน้าที่ทางการเวียดนามและชาวบ้านเวียดนามที่อาศัยอยู่ตามแนวพรมแดน

ปัญหากลุ่มชนเชื้อสายเวียดนามที่เข้ามาลงหลักปักฐานในกัมพูชา เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่กระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมาตั้งแต่ปี 1953 แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ รัฐบาลพรรคประชาชนกัมพูชามีท่าทีแข็งกร้าวขึ้นต่อผู้อพยพที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายซึ่งรวมถึงชาวเวียดนามด้วย มีการรณรงค์และออกมาตรการปราบแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายมาตั้งแต่กลางปี 2014 จนในช่วงสิ้นปีนั้นกระทรวงมหาดไทยของกัมพูชาเนรเทศผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมายไปมากกว่า 1,300 คน ซึ่ง 90% ในจำนวนนี้เป็นชาวเวียดนาม

การผลักดันคนเข้าเมืองผิดกฎหมายกลับประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2015 โดยมีชาวเวียดนามถูกเนรเทศออกจากกัมพูชาถึงกว่า 6,000 คน ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่สูงมากเมื่อเทียบกับสถิติ 2,500 คนในปี 2016

ล่าสุดมีรายงานว่า เวียดนามได้แสดงความไม่พอใจที่ทางการกัมพูชาอพยพกลุ่มชนเชื้อสายเวียดนามราว 2,300 คน ออกจาก "หมู่บ้านลอยน้ำ" ในทะเลสาบโตนเลสาบ ส่วนบรรดาผู้นำในรัฐบาลกัมพูชาเองนั้นก็ประสบกับความลำบากยุ่งยากใจ หลังถูกทางการเวียดนามเรียกร้องให้ปกป้องคนของตนในกัมพูชา ซึ่งประเด็นนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาถกกันทุกครั้งที่ทั้งสองฝ่ายจัดการประชุมทวิภาคีร่วมกัน

หนทางสู่ความสัมพันธ์ในอนาคต

ดังที่มีผู้กล่าวไว้ว่า "เราอาจจะเปลี่ยนเพื่อนที่คบหากันได้ แต่เปลี่ยนเพื่อนบ้านไม่ได้" กัมพูชาและเวียดนามไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะต้องอยู่ร่วมกันอย่างสันติบนพื้นฐานของหลักการที่ให้ความเคารพอธิปไตยของกันและกัน รวมทั้งต้องสร้างความร่วมมือที่ทั้งสองฝ่ายต่างได้รับประโยชน์โดยไม่มีใครเสียเปรียบ แต่อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายว่าความพยายามสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างผู้นำเวียดนามและกัมพูชา ยังไม่สามารถทำลายความหวาดระแวงอันเนื่องมาจากเหตุผลทางยุทธศาสตร์ลงได้

ด้วยเหตุนี้ทั้งสองประเทศจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องจัดการเจรจาเชิงสร้างสรรค์ขึ้นทุกระดับ นอกเหนือไปจากการหารือทางการเมืองและยุทธศาสตร์ในระดับผู้นำที่มีอยู่แล้ว ที่ผ่านมานับว่ามีความเปิดเผยและสร้างสรรค์อย่างน่าพึงพอใจ แต่ควรจะต้องเพิ่มช่องทางผูกสัมพันธ์ผ่านการแลกเปลี่ยนบรรดานักวิจัย นักวิชาการ ผู้นำเยาวชน นักเรียนนักศึกษา และนักกิจกรรมชุมชนให้มากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันวิจัยด้านกิจการต่างประเทศที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ของทั้งเวียดนามและกัมพูชา ก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยลดความรู้สึกหวาดระแวง อันอาจนำไปสู่การตัดสินใจดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนบ้านทั้งสองในอนาคตได้