พระราชกรณียกิจ ร.9 ด้านการแพทย์

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้นำผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข สวมชุดดำลงนามถวายอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยบรรยากาศเป็นไปด้วยความเศร้าโศก

Advertisment

นพ.โสภณ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศทรงเป็นผู้นำทางด้านสาธารณสุขอย่างแท้จริง ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการสาธารณสุขทั้งเรื่องการส่งเสริมป้องกันโรค ทรงพระราชทานหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ที่เข้าถึงบริการสุขภาพลำบาก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งมูลนิธิอานันทมหิดลขึ้น เพื่อพระราชทานทุนแก่แพทย์เพื่อศึกษาต่อในต่างประเทศและกลับมาพัฒนางานสาธารณสุขของประเทศ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการปราบโรคระบาด และการศึกษาวิจัยเพื่อหาแนวทางในการป้องกันโรค เช่น โรคเรื้อน โรคโปลิโอ เป็นต้น นับจากนี้กระทรวงสาธารณสุขจะน้อมน้ำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติและส่งเสริมให้โรงพยาบาลในสังกัดดำเนินตามหลักปรัชญา และทำให้เป็นโรงพยาบาลคุณธรรม ทำให้บุคลากรของสถานพยาบาลมีกำลังใจในการดูแลสุขภาพประชาชนให้มากที่สุด

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ทรงให้ความสำคัญกับงานสาธารณสุขเป็นอย่างยิ่ง ดังจะเห็นว่าโครงการที่พระราชทานให้กับประชาชนในระยะแรกๆ ล้วนแต่เป็นโครงการด้านสาธารณสุข พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการสาธารณสุข เพราะการที่ประชาชนมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงจะนำไปสู่สุขภาพจิตที่ดี และส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดีตามไปด้วย

Advertisement

เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร พระองค์ทรงพบว่าราษฎรเป็นจำนวนมากขาดการดูแลรักษาในด้านสุขภาพอนามัย โครงการหน่วยแพทย์พระราชทานจึงได้ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2510 ต่อมาเมื่อมีการเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรม เพื่อเยี่ยมราษฎรในพื้นที่โครงการต่างๆ โครงการพระราชดำริด้านการแพทย์จึงได้ขยายขอบข่ายออกไปอย่างกว้างขวาง ซึ่งอาจแบ่งตามลักษณะงานได้เป็น 2 ประการ คือ 1.การบำบัดรักษาโดยการตรวจจากคณะแพทย์พระราชทาน ซึ่งอาจแบ่งออก ได้ดังนี้

แพทย์ประจำพระองค์ และคณะแพทย์ตามเสด็จฯ

หน่วยแพทย์หลวงกองแพทย์หลวง สำนักพระราชวัง และเจ้าหน้าที่

Advertisement

พระราชกรณียกิจ ร.9 ด้านการแพทย์

คณะแพทย์ตามพระราชประสงค์ เป็นแพทย์ที่อาสามาจากหลายสาขาวิชาหลายหน่วยงาน อาทิ คณะศัลยแพทย์อาสา จากราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย คณะศัลยแพทย์อาสา จากโรงพยาบาลศิริราช คณะศัลยแพทย์อาสา จากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า คณะแพทย์หู คอ จมูก และโรคภูมิแพ้ หน่วยทันตแพทย์เคลื่อนที่ จากกรมแพทย์ทหารบก คณะจักษุแพทย์

แพทย์พระราชทานดังกล่าว จะจัดชุดทำงานตามสถานที่ต่างๆ ดังนี้ ที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดที่พระราชนิเวศน์ตั้งอยู่ ได้แก่ โรงพยาบาลสกลนคร โรงพยาบาลนราธิวาส และโรงพยาบาลค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ บริเวณที่ตรวจโรคหน้าภูพานราชนิเวศน์ และทักษิณราชนิเวศน์ และตามเสด็จพระราชดำเนินไปรักษาพยาบาลยังหมู่บ้านต่างๆ

2.การอบรมหมอหมู่บ้านตามพระราชดำริ โดยเริ่มต้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2525 ทั้งนี้เพื่อให้ราษฎรที่ได้รับการอบรมเหล่านี้ได้นำความรู้กลับไปช่วยเหลือประชาชนในท้องถิ่นของตน การอบรมจะเน้นในเรื่องการสาธารณสุขมูลฐาน เช่น การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การเวชศาสตร์ป้องกันอย่างง่ายๆ การโภชนการ (โดยเฉพาะแม่และเด็ก) การติดต่อกับเจ้าหน้าที่รักษาพยาบาลของรัฐคือสถานีอนามัย จนถึงโรงพยาบาลอำเภอและจังหวัด เจ้าหน้าที่ที่มาให้การสนับสนุนในการอบรมหน่วยงานต่างๆ ทั้งพลเรือนและทหาร ทั้งฝ่ายปกครองและฝ่ายการแพทย์ สถานที่ดำเนินการฝึกอบรม ได้แก่ โรงพยาบาลประจำจังหวัดที่พระราชนิเวศน์ตั้งอยู่ ซึ่งได้แก่ โรงพยาบาลสกลนคร โรงพยาบาลนราธิวาส และโรงพยาบาลค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่

งานทั้ง 2 ลักษณะข้างต้น มีพื้นที่ครอบคลุมในภาคเหนือตอนบน ประมาณ 10 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ และพิษณุโลก
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด คือ สกลนคร นครพนม อุดรธานี หนองคาย มุกดาหาร มหาสารคม กาฬสินธุ์ เลย และในภาคใต้ 4 จังหวัด คือ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา

พระราชกรณียกิจ ร.9 ด้านการแพทย์

โครงการแพทย์พระราชทาน ซึ่งประกอบด้วยการบำบัดรักษาจากคณะแพทย์พระราชทาน และอบรมหมอหมู่บ้าน เป็นการช่วยแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของราษฎร ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและมีอุปสรรคที่ระบบปกติยากจะดูแลได้ทั่วถึงโดยเฉพาะอย่างยิ่งราษฎรส่วนใหญ่มีฐานะยากจน และขาดความรู้ในการดูแลรักษาตนเอง การมีคณะแพทย์พระราชทานออกไปบำบัดรักษาผู้ป่วยจะทำให้ราษฎรมีโอกาสได้รับการรักษาอย่างถูกต้องโดยไม่ต้องเสียทุนทรัพย์ใดๆ และสำหรับการอบรมหมอหมู่บ้านนั้นจะช่วยให้ราษฎรมีความรู้เกี่ยวกับการป้องกัน รู้จักวิธีรักษาพยาบาลแบบปัจจุบัน และรู้จักวิธีติดต่อกับหน่วยราชการ ในกรณีที่เกินขีดความสามารถที่จะดูแลรักษาตนเองได้อันเป็นการช่วยแก้ปัญหาในระยะยาว ซึ่งอาจกล่าวสรุปได้ว่า โครงการหน่วยแพทย์พระราชทานจะแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ ดังนี้
1.ทางด้านสุขภาพอนามัย ซึ่งเป็นผลที่ได้รับโดยตรงจะช่วยแก้ปัญหาการเจ็บป่วย หรือทุพพลภาพได้ปีหนึ่งๆ เป็นจำนวนมาก จำนวนราษฎรทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณในการบำบัดรักษาจากหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทาน จะเป็นชาวชนบทที่ยากจนที่มีอาชีพเป็นเกษตรกรอันเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ จากจำนวนตัวเลขที่ปรากฎในแต่ละปีจะมีราษฎรที่เจ็บป่วยจากทุกภาคที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณรับไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ทั้งที่เป็นคนไข้ในโรงพยาบาลและผู้ที่มาขอรับการตรวจ ตลอดจนถึงการที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตามเสด็จฯ ไปตามหมู่บ้านต่างๆ มีจำนวนมากมายนับหมื่นนับแสนคน

2. ทางด้านเศรษฐกิจ การที่ราษฎรเจ็บป่วยจะเป็นปัญหาในการประกอบอาชีพของราษฎร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่จะต้องใช้กำลังภายในการทำงาน ดังนั้นเมื่อได้รับการบำบัดรักษาให้มีสุขภาพพลามัยที่ดีแล้ว ราษฎรเหล่านั้นก็สามารถมีร่างกายที่สามารถต่อสู้กับงานหนักในการประกอบอาชีพได้ ซึ่งจะได้ยังผลให้เศรษฐกิจส่วนรวมของสังคมดีขึ้นอย่างแน่นอน