โครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย

โครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย

สถานะแผนงาน ณ เดือน ก.ย. 2564  ทั้ง 111 โครงการ ก่อสร้างเสร็จแล้ว 27 โครงการ อยู่ระหว่างดำเนินการ 33 โครงการ อยู่ระหว่างเตรียมการ เช่น จัดทำ EIA เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกวดราคา และอยู่ระหว่างศึกษาโครงการรวม 38 โครงการ นอกจากนี้ยังได้ยกเลิก ชะลอ และไม่ดำเนินการจำนวน 13 โครงการ


ย้อนกลับไป 1 เดือนก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ออกแถลงการณ์เรื่อง กลยุทธ์ 3 แกน สร้างอนาคต เมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา

หนึ่งในแกนสำคัญที่ พล.อ.ประยุทธ์ พูดถึงคือ 'โครงสร้างพื้นฐาน' ที่ระบุว่าเป็นสะพานที่นำพาประเทศไปสู่ความมั่งคั่ง

"เป็นสิบๆ ปีที่ผ่านมา รัฐมักจะวางแผนโครงการที่สวยหรูมากมาย แต่สุดท้ายถูกเก็บขึ้นหิ้งจนฝุ่นเกาะ ประชาชนหลายสิบล้านคนยังคงต้องใช้ชีวิตกันต่อไป โดยไม่ได้รับประโยชน์ ความมุ่งมั่นหลักของผม คือทำอย่างไรให้โครงการนับร้อยๆ เหล่านั้น เกิดขึ้นจริงให้ได้ เพราะจะเป็นเหมือนสะพานเชื่อม เป็นเครื่องมือให้ทุกคนเข้าถึงโอกาสที่จะสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองและประเทศ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ตลอด 8 ปี ผลงานด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ มักหยิบยกขึ้นมานำเสนอในหลายเวที ภายใต้ 'แผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของไทย' ระยะเวลาดำเนินการ 8 ปี (2558-2565) ซึ่งกำลังจะหมดอายุลงในปีนี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รวบรวมความคืบหน้าโครงการสำคัญมานำเสนอ ดังนี้

'เมกะโปรเจ็กต์'คมนาคม 8 ปี ใช้งบ 1.9 ล้านล้าน

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาม เปิดเผย สำนักข่าวอิศราว่า ปัจจุบันรัฐบาลยังดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558 - 2565 ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งเป็นการทดแทนแผนกู้เงินในร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. …. หรือ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

สำหรับรายละเอียดแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว แบ่งแผนดำเนินการได้ 5 แผนงาน รวม 111 โครงการ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย 1.พัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง 31 โครงการ วงเงิน 1.482 ล้านล้านบาท 2. พัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะ 24 โครงการ วงเงิน 861,208.71 ล้านบาท 3. เพิ่มขีดความสามารถทางหลวง 26 โครงการ วงเงิน 456,765.02 ล้านบาท  4. พัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำ 15 โครงการ วงเงิน 159,062.86 ล้านบาท และ 5.พัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางอากาศ 15 โครงการ วงเงิน 255,586.46 ล้านบาท ทั้งนี้ กรอบวงเงินรวม 1.912 ล้านล้านบาท ไม่รวมรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐานและการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

โดยสถานะแผนงาน ณ เดือน ก.ย. 2564  ทั้ง 111 โครงการ ก่อสร้างเสร็จแล้ว 27 โครงการ อยู่ระหว่างดำเนินการ 33 โครงการ อยู่ระหว่างเตรียมการ เช่น จัดทำ EIA เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกวดราคา และอยู่ระหว่างศึกษาโครงการรวม 38 โครงการ นอกจากนี้ยังได้ยกเลิก ชะลอ และไม่ดำเนินการจำนวน 13 โครงการ

โครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย

เข็นไฮสปีด 3 สนามบิน ก่อสร้าง ต.ค. 65

ในส่วนของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท มีการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นเจ้าของโครงการ และมี บจ.เอเชีย เอรา วัน (ซี.พี.) เป็นคู่สัญญา โดยลงนามในสัญญาร่วมทุนไปเมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามยังไม่มีรางานความคืบหน้าโครงการนี้ สาเหตุมาจาก กลุ่มซี.พี. ยื่นขอให้มีมาตรการเยียวยาจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ช่วงปี 2563-2564 ทำให้ต้องมีการเจรจากัน เพื่อแก้ไขสัญญาอีกครั้ง เนื่องจากเดิมในสัญญากำหนดไว้ว่า เอกชนคู่สัญญาต้องชำระค่าให้สิทธิ์ร่วมลงทุนในแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ภายในวันที่ครบระยะเวลา 2 ปีนับจากวันที่สัญญาร่วมลงทุนมีผลใช้บังคับ หมายความว่า ทางซี.พี.จะต้องจ่ายค่าใช้สิทธิ์แอร์พอร์ตเรลลิ้งค์มูลค่า 10,671.090 ล้านบาทภายในวันที่ 24 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งซี.พี.ได้ขอเจรจาและเลื่อนการจ่ายค่าใช้สิทธิ์ไปก่อน

ทำให้ทางภาครัฐต้องทำบันทึกข้อตกลง (MOU) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในที่สุด และขยายเวลาออกไปครั้งละ 3 เดือน จนล่าสุด ร ะยะเวลาการขยายเวลาเลยมาถึงเดือน ก.ค. แล้ว การออก MOU ดังกล่าวมีเหตุผลสำคัญคือเพื่อให้มีการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน ในประเด็นการจ่ายค่าใช้สิทธิ์แอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ดังกล่าว

ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยอีกว่า ผลการเจรจาในประเด็นดังกล่าวได้มีข้อสรุปร่วมกันแล้ว คาดว่าจะมีการเสนอที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เป็นประธานในวันที่ 1 ส.ค.2565 นี้ หลังจากนั้นจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน ภายในเดือนเดียวกัน

ขณะที่การส่งมอบพื้นที่ส่วนแรกช่วงสุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา ระยะทาง 170 กม. ล่าสุด รฟท.ได้จัดการเรื่องเวนคืน และระบบสาธารณูปโภค เรียบร้อยแล้ว จะส่งมอบพื้นที่ได้ในเดือน ต.ค.2565 นอกจากนี้ ในช่วงที่มีโครงสร้างทับซ้อนกับรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน ช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม.นั้น หลังจากได้ข้อสรุปว่า ทางซี.พี.จะต้องรับผิดชอบค่าก่อสร้างโครงสร้างร่วม ก็จะเสนอคณะกรรมการ กบอ. ในวันที่ 1 ส.ค.นี้เช่นกัน โดยคาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ได้ในเดือน ม.ค. 2566 วางกำหนดเปิดให้บริการปี 2570

โครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย
MOU เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

ไฮสปีดไทยจีน คืบแล้ว 12%

ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร –หนองคายภายใต้ความร่วมมือระหว่างประเทศไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. งานโยธาจำนวน 14 สัญญา วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท

สถานะล่าสุดเมื่อต้นเดือน ก.ค.2565 งานโยธาทั้ง 14 สัญญา เสร็จแล้ว 1 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา รอลงนามก่อสร้าง 3 สัญญา คิดเป็นความคืบหน้าโดยรวม 12%

กรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า สาเหตุที่ทำให้การก่อสร้างที่ผ่านมาคืบหน้าไม่มากนัก เนื่องจากปัญหาอุปสรรคโดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นคือการเข้าพื้นที่ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการเวนคืนที่ดิน การใช้พื้นที่ส่วนราชการ รวมถึงเจรจาแก้ปัญหาผู้บุกรุกพื้นที่รถไฟ อีกทั้งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานได้ทั้งในประเทศและแรงงานต่างด้าว ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดฯเริ่มคลี่คลายแล้วและการเคลื่อนย้ายแรงงานไม่ได้เป็นปัญหาอุปสรรคแล้ว

ซึ่งหลังจากนี้จะเห็นการก่อสร้างที่มีความก้าวหน้ารวดเร็วมากขึ้นเนื่องจากได้ผ่านช่วงที่มีอีกทั้งงานช่วงแรกจะเป็นงานทำฐานรากที่อยู่ใต้ดินโดย ร.ฟ.ท.ประเมินว่าในปีนี้งานโยธาจะคืบหน้าประมาณ 20%

ด้านงานสัญญา 2.3 (สัญญาการวางราง และระบบการเดินรถ ระบบอาณัติสัญญาณ พร้อมขบวนรถ) วงเงิน 50,633.50 ล้านบาท ซึ่งลงนามกับบจ. ไชน่า เรลเวย์ อินเตอร์แนชันนัล (CHINA RAILWAY INTERNATIONAL CO., LTD.) และ บจ. ไชน่า เรลเวย์ ดีไซน์ คอร์เปอเรชัน (CHINA RAILWAY DESIGN CORPORATION) ไปเมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2563 นั้น

ขณะนี้เป็นการทำงานในขั้นตอนการออกแบบ และขั้นตอนการตรวจรับแบบ ซึ่งยังมีการแก้ไขบางประเด็นที่ส่งกลับไปให้จีนดำเนินการ โดยแบบจะสรุปได้ภายในปี 2565 ขณะเดียวกัน จีนเองจะต้องเตรียมจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเริ่มงาน

สำหรับการส่งมอบพื้นที่ให้งานสัญญา 2.3 เข้าทำงานนั้น กำหนดเป็น 4 ช่วง (Key Date) โดยจะต้องสอดคล้องกับการก่อสร้างงานโยธา โดย Key Date แรกจะเป็นการส่งมอบพื้นที่ส่วนของกลุ่มงานอาคารไฟฟ้า สถานีจ่ายไฟฟ้า และศูนย์ควบคุมการสื่อสารตามแนวเส้นทาง ซึ่งจะก่อสร้างเสร็จก่อน คาดว่าจะเริ่มส่งมอบให้ในปี 2567 จากนั้นจะทยอยส่งมอบพื้นที่ในกลุ่มงานทาง โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง (Key Date) โดยจุดสุดท้ายที่จะส่งมอบคือ สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ประมาณปี 2569

สำหรับขบวนรถไฟความเร็วสูงนั้น ทางจีนอยู่ระหว่างออกแบบ คาดว่าจะได้ข้อสรุปแบบภายในปี 2565 เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการออกแบบรายละเอียดและการผลิตต่อไป แผนงานการเปิดให้บริการอยู่ที่ 2570

โครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย
อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

แหลมฉบังเฟส 3 ล่าช้า 12 เดือน

และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 วงเงิน 87,471 ล้านบาท มีการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เป็นเจ้าของโครงการ และมี บจ. จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล (GPC) เป็นเอกชนคู่สัญญา ปัจจุบัน ภาพรวมมีความล่าช้าประมาณ 12 เดือน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม ในฐานะกำกับดูแล กทท. เปิดเผยว่า ในส่วนของการดำเนินการงานขุดลอกถมทะเล สร้างเขื่อนกันคลื่น ระยะเวลาการดำเนินงาน 4 ปี (5 พ.ค. 64-3 พ.ค. 68) ปัจจุบันยังมีความล่าช้ากว่าแผนงาน โดยมีความคืบหน้าประมาณ 5%

ทั้นงี้ ได้สั่งการให้ กทท.จัดทำแผนเร่งรัดการก่อสร้าง (Action Plan) โดยเพิ่มเครื่องมือเครื่องจักรในการทำงาน ใช้เทคนิคด้านวิศวกรรมเร่งรัดงานให้เร็วขึ้น เพิ่มจำนวนคนและเวลางาน เพื่อที่จะสามารถส่งมอบพื้นที่เพื่อให้ GPC เข้าดำเนินงานได้ภายในปี 2566 และเปิดให้บริการในปี 2568 ตามสัญญาร่วมลงทุน

สำหรับงานขุดลอกถมทะเล สร้างเขื่อนกันคลื่น มีกิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี (CNNC) ประกอบด้วย บจ.เอ็น.ที.แอล.มารีน ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ.พริมามารีน, บจ. นทลิน และ บจ. จงก่าง คอนสตรั๊คชั่น กรุ๊ป (ประเทศจีน) เป็นผู้รับจ้าง วงเงิน 21,320 ล้านบาท

โดย กทท.ออกหนังสือเริ่มงาน (NTP) เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2564 กำหนดแผนการทำงานเป็น 3 ช่วง คือ Key Date ที่ 1 หลังจากออก NTP 1 ปี หรือในวันที่ 4 พ.ค. 2565 จะต้องก่อสร้างและส่งพื้นที่ถมทะเลในโซน A จำนวน 3 แสนลูกบาศก์เมตร ขณะนี้ยังส่งมอบไม่ได้ โดยปรับแผนงานไปเป็นวันที่ 20 ส.ค. 2565

Key Date ที่ 2 ในวันที่ 5 พ.ย. 2565 ต้องส่งมอบพื้นที่ถมทะเลอีก 1 ล้านลูกบาศก์เมตร ปรับแผนใหม่เป็นวันที่ 26 ธ.ค. 2565

ส่วน Key Date ที่ 3 กำหนดภายใน 2 ปี หรือวันที่ 4 พ.ค. 2566 ยังคงเป็นไปตามแผน เพื่อส่งมอบพื้นที่ให้บริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด ผู้รับสัมปทาน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ระยะที่ 1 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F เข้าดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือ ลานวางตู้ อาคารสำนักงาน ติดตั้งเครื่องมือ เพื่อเปิดดำเนินการในปลายปี 2568 ตามกำหนด

นายอธิรัฐกล่าวว่า โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรองรับตู้สินค้าจาก 11 ล้านตู้/ปี เป็น 18 ล้านตู้/ปี รองรับการขยายตัวของปริมาณเรือขนส่งสินค้าทางทะเลเพิ่มขึ้น และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะแล้วเสร็จในปี 2568 ตนจึงได้มอบนโยบายการดำเนินงานให้ท่าเรือแหลมฉบัง ดังนี้

  1. แผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐาน EEC ประจำปี 2566-2570 ภายใต้แผนยุทธศาสตร์และเป้าหมาย ในส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้ท่าเรือแหลมฉบังจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) การพัฒนาพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบังให้รองรับปริมาณตู้สินค้าอย่างเพียงพอ

  2. เร่งแก้ไขปัญหาการจราจรและความแออัดในท่าเรือแหลมฉบัง เน้นการบูรณาการกับทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการจัดการด้านข้อมูลใช้เทคโนโลยีที่เชื่อมโยงข้อมูลถึงกัน

  3. Green Port การมุ่งสู่ท่าเรือพาณิชย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ทดแทนการใช้พลังงานเชื้อเพลิง เพื่อลดมลพิษในบริเวณท่าเรือ หรือลดการใช้พลังงานไฟฟ้า

ทั้งนี้ เพื่อให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูการค้าการลงทุน สามารถส่งเสริมสนับสนุนทั้งด้านนโยบายและด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทำให้โครงการ EEC ประสบความสำเร็จ เสริมยุทธศาสตร์ที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าบริการขนส่งเชื่อมภูมิภาคเอเชียไปสู่ระดับโลก

โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนของท่าเทียบเรือ F ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี เงื่อนไขสัญญากลุ่ม GPC จะเริ่มจ่ายค่าสัมปทานในปีที่ 3 นับจากออก NTP วงเงินประมาณ 70 ล้านบาทเศษ และปรับเพิ่มขึ้นตามการเจรจาข้อตลงในสัญญา จนถึงปีที่ 35 คิดเป็นค่าตอบแทนทั้งหมด 87,471 หมื่นล้านบาท โดยเมื่อคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) จะอยู่ที่ 29,050 ล้านบาท ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ

สำหรับงานด้านโครงสร้างพื้นฐานโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่ กทท.จะดำเนินการเอง 4 งาน ได้แก่ 1. งานก่อสร้างทางทะเล เป็นงานขุดลอกถมทะเล สร้างเขื่อนกันคลื่น มีกิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี (CNNC) ประกอบด้วย บริษัท เอ็น.ที.แอล.มารีน จำกัด เป็นผู้รับจ้าง วงเงิน 21,320 ล้านบาท โดย กทท.ได้ออก NTP เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2564 มีระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญา 4 ปี ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนขออนุญาตเรื่องสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง กทท.ได้ตั้งคณะกรรมการเร่งรัดงานเพื่อให้แล้วเสร็จตามกำหนด

2. งานก่อสร้างอาคารท่าเทียบเรือ ระบบถนนและระบบสาธารณูปโภค 3. งานก่อสร้างระบบรถไฟ และ 4. งานจัดหา ประกอบและติดตั้งเครื่องจักรและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

 

โครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย

Action Plan เร่งรัดแผนงาน

โครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย
แผนผังท่าเรือแหลมฉบัง

ปูพรม 'ทางคู่' 14 เส้นทาง 4.2 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม จาก 111 โครงการ ขอยกตัวอย่างโครงการที่หลายๆคนน่าจะสนใจกัน นั่นคือ การก่อสร้างในส่วนโครงการรถไฟทางคู่ทั้งหมด จำนวน 14 เส้นทาง ระยะทางรวม 3,149 กม. วงเงินรวม 429,770.85 ล้านบาท โดยแบ่งโครงการเป็น 3 ช่วง ช่วงที่ 1 จำนวน 5 เส้นทาง ระยะทางรวม 700 กม. วงเงินรวม 89,514.88 ล้านบาท ช่วงที่ 2  จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,479 กม. วงเงินรวม  266,975.99 ล้านบาท และรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง วงเงินรวม 128,236 ล้านบาท ข้อมูล ณ วันที่ 6 ก.ค. 2565 มีรายละเอียด ดังนี้

ระยะที่ 1 จำนวน 5 เส้นทาง ระยะทางรวม 700 กม. วงเงินรวม 89,514.88 ล้านบาท

1. รถไฟทางคู่ช่วงลพบุรี - ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม. วงเงินรวม 18,699 ล้านบาท แบ่งสร้าง 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงบ้านกลับ - โคกกระเทียม ระยะทาง 32 กม. วงเงิน 10,050 ล้านบาท มีความก้าวหน้าในการก่อสร้าง 75.11% ล่าช้ากว่าแผนที่ต้องเสร็จในเดือน มิ.ย. 2565 24.89% และสัญญาที่ 2 ช่วงท่าแค - ปากน้ำโพ ระยะทาง 116 กม. วงเงิน 8,649 ล้านบาท มีความก้าวหน้าในการก่อสร้าง 73.14% ล่าช้ากว่าแผนที่ต้องเสร็จในเดือนก.ค. 2565 26.71% 

2. รถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา - ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม. วงเงินรวม 23,910.58 ล้านบาท แบ่งสร้าง 3 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงมาบกะเบา - คลองขนานจิตร ระยะทาง 58 กม. วงเงิน 7,560 ล้านบาท มีความก้าวหน้า 94.77% ช้ากว่าแผน 0.63% คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค. 2565 สัญญาที่ 2 ช่วงคลองขนานจิตร - ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 69 กม. วงเงิน 7,060.58 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขออนุมัติรายงาน EIA และ ครม. ดำเนินการ และสัญญาที่ 3 ช่วงอุโมงค์รถไฟ ระยะทาง 5 กม. วงเงิน 9,290 ล้านบาท มีความก้าวหน้า 91.377% ล่าช้ากว่าแผน 0.63% คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ย. 2565 นี้

3.รถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม - หัวหิน ระยะทาง 169 กม. วงเงินรวม 15,718 ล้านบาท แบ่งสร้าง 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงนครปฐม - หนองปลาไหล ระยะทาง 93 กม. วงเงิน 8,198 ล้านบาท มีความก้าวหน้า 97.12% ล่าช้ากว่าแผน 1.069% คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ย. 2565 และสัญญาที่ 2 ช่วงหนองปลาไหล - หัวหิน ระยะทาง 76 กม. วงเงิน 7,520 ล้านบาท มีความก้าวหน้า 94.909% ล่าช้ากว่าแผน 2.187% คาดว่าจะก่อสร้างในเดือน ก.ย. 2565 นี้

4. รถไฟทางคู่ช่วงหัวหิน - ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กม. วงเงิน 5,807 ล้านบาท ความคืบหน้าการก่อสร้าง 99.99% ล่าช้ากว่าแผนที่ต้องเสร็จในเดือน ต.ค. 2564 0.010% 

5. รถไฟทางคู่ช่วงประจวบคีรีขันธ์ - ชุมพร ระยะทาง 167 กม. วงเงินรวม 12,457 ล้านบาท แบ่งสร้าง 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงประจวบคีรีขันธ์ - บางสะพานน้อย ระยะทาง 88 กม. วงเงิน 6,465 ล้านบาท มีความก้าวหน้า 88.812% ล่าช้ากว่าแผนที่ต้องเสร็จเมื่อเดือน ม.ค.. 2565 ประมาณ 11.188% และสัญญาที่ 2 บางสะพานน้อย - ชุมพร ระยะทาง 79 กม. วงเงิน 5,992 ล้านบาท มีความก้าวหน้า 89.393% ล่าช้ากว่าแผนเดิมที่ต้องเสร็จในเดือน เม.ย. 2565 ประมาณ 10.607% 

ระยะที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,479 กม. วงเงินรวม 266,975.99 ล้านบาท ทั้งหมดยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง อยู่ระหว่างการเสนอ ครม. ดำเนินการ ทั้ง 7 เส้นทางมีความคืบหน้าดังนี้

1. รถไฟทางคู่ช่วงปากน้ำโพ - เด่นชัย ระยะทาง 281 กม. วงเงิน 59,399.80 ล้านบาท อยู่ระหว่างทำข้อมูลเพิ่มเติมเสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) พิจารณา ส่วนรายงาน EIA ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แล้วเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2565

2. รถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ - อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. วงเงิน 36,683 ล้านบาท อยู่ระหว่างทำข้อมูลเพิ่มเติมเสนอสภาพัฒน์ พิจารณา ส่วนรายงาน EIA ได้รับความเห็นชอบจาก กก.วล. เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2563

3. รถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น - หนองคาย ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 25,842 ล้านบาท หลังจากคณะกรรมการ ร.ฟ.ท. เห็นชอบให้ดำเนินการเมื่อเดือน ธ.ค. 2564 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงคมนาคม และสภาพัฒน์ ส่วนรายงาน EIA ได้รับความเห็นชอบจาก กก.วล.เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2561

4. รถไฟทางคู่ช่วงชุมพร - สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กม. วงเงิน 23,080 ล้านบาท อยู่ระหว่างทำข้อมูลเพิ่มเติมเสนอสภาพัฒน์ พิจารณา ส่วนรายงาน EIA อยู่ระหว่างการทำรายงาน จะเสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาในเดือน ก.ค. 2565 นี้

5. รถไฟทางคู่สุราษฎร์ธานี - หาดใหญ่ - สงขลา ระยะทาง 321 กม. วงเงิน 56,114.26 ล้านบาท อยู่ระหว่างทำข้อมูลเพิ่มเติมเสนอสภาพัฒน์ พิจารณา ส่วนรายงาน EIA อยู่ระหว่างการทำรายงาน จะเสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงาน EIA (คชก.) ตามลำดับ

6. รถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย - เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กม. วงเงิน 57,992.44 ล้านบาท  อยู่ระหว่างทำข้อมูลเพิ่มเติมเสนอสภาพัฒน์ พิจารณา ส่วนรายงาน EIA อยู่ระหว่างการปรับแก้รายงานโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)

7. รถไฟทางคู่ช่วงหาดใหญ่ - ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. วงเงิน 7,864.49 ล้านบาท อยู่ระหว่างทำข้อมูลเพิ่มเติมเสนอสภาพัฒน์ พิจารณา ส่วนรายงาน EIA ผ่านการพิจารณาของ กก.วล.เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2561

โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง ระยะทางรวม 677 กม. วงเงินรวม 128,236 ล้านบาท

1. รถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย - เชียงราย - เชียงของ ระยะทาง 322 กม. วงเงินรวม 72,835 ล้านบาท แบ่งก่อสร้าง 3 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย - งาว ระยะทาง 103 กม. วงเงิน 26,560 ล้านบาท สัญญาที่ 2 งาว - เชียงราย ระยะทาง 132 กม. วงเงิน 26,890 ล้านบาท และสัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย - เชียงของ ระยะทาง 87 กม. วงเงิน 19,385 ล้านบาท ทั้ง 3 เส้นทาง อยู่ระหว่างรอการเวนคืนและส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง

พื้นที่เวนคืนมีจำนวน 2,761 แปลง เนื้อที่รวม 2,680 ไร่ โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืน และจำนวนเงินค่าทดแทนในการจัดกรรมสิทธิ์ขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ให้แก่บุคคลหรือผู้มีสิทธิรับเงินค่าทดแทน

คาดว่าจะสิ้นสุดกระบวนการส่งมอบพื้นที่ได้ตามแผนภายในเดือนธ.ค. 2566 จากนั้นจะเริ่มงานคันทาง โดยถมดินเพื่อยกระดับเส้นทางที่จะก่อสร้างทางรถไฟ เฉพาะในพื้นที่จังหวัดแพร่ คาดว่าจะแล้วเสร็จตามแผนภายในเดือน ธ.ค. ปี 2568 และเริ่มก่อสร้างสถานีระบบรางจนสามารถเปิดใช้งานเส้นทางเดินรถได้ภายในปี 2571

2. รถไฟทางคู่ช่วงบ้านไผ่ - มุกดาหาร - นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงิน 55,401ล้านบาท แบ่งก่อสร้าง 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 บ้านไผ่ - หนองพอก ระยะทาง 180 กม. วงเงิน 27,095 ล้านบาท และสัญยาที่ 2 หนองจอก - สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 ระยะทาง 175 กม. วงเงิน 28,306 ล้านบาท สถานะปัจจุบัน  อยู่ระหว่างการแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ และสำรวจรายละเอียดอสังหาริมทรัพย์เพื่อเวนคืน คาดว่าจะลงนามสัญญาจ้างผู้ให้บริการควบคุมงานก่อสร้างภายในเร็วๆนี้ แผนการเปิดให้บริการกำหนดไว้ในปี 2571 

ทั้งหมดเป็นข้อมูลโครงการสร้างพื้นฐาน ภายใต้การบริหารงาน 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ หนึ่งในแกนสำคัญหวังสร้างสะพานเชื่อมไทยไปสู่ความมั่งคั่ง แต่สุดท้ายจะสำเร็จดังหวังหรือไม่ ยังคงต้องติดตาม