การใช้ แพลตฟอร์มดิจิทัล

นโยบายคุ้มครองความเป็นส่วนตัว สำหรับผู้ใช้งานเว็บไซต์ของสำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (สบค.) ฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของท่านซึ่งได้แวะเข้าเยี่ยมชมหรือใช้งานเว็บไซต์นี้ ของ สบค.

โปรดทราบว่านโยบายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวฉบับนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ โดยการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดจะแสดงอยู่บนเว็บไซต์นี้ ทั้งนี้ เมื่อใดที่มีการเปลี่ยนแปลงสาระของนโยบายคุ้มครองความเป็นส่วนตัว สบค. จะมีข้อความเตือนอย่างชัดเจนเพื่อให้ท่านได้ทราบถึงการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งจะกระทำล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วันก่อนวันที่การเปลี่ยนแปลงจะมีผลใช้บังคับ

ขอบเขตของนโยบายฉบับนี้

นโยบายฉบับนี้ครอบคลุมถึงการปฏิบัติของสบค. ต่อข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้รับหรือจัดเก็บอันสืบเนื่องมาจากการที่ท่านเข้าเยี่ยมชมหรือใช้งานเว็บไซต์นี้ โดยข้อมูลส่วนบุคคล หมายถึง ข้อมูลที่ทำให้สามารถระบุได้ถึงตัวตนของบุคคล และมิใช่ข้อมูลที่โดยปกติสาธารณชนจะเข้าถึงได้ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ตัวอย่างของข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ อายุ เพศ สัญชาติ เลขที่บัตรประจำตัวหรือหนังสือเดินทาง ที่อยู่หรือที่ทำงาน หมายเลขโทรศัพท์ หรือที่อยู่ทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

นโยบายฉบับนี้ไม่ได้ใช้กับเว็บไซต์ของบุคคลที่สามซึ่งเชื่อมโยงมายังเว็บไซต์นี้ หรือเชื่อมโยงไปจากเว็บไซต์นี้

การเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งาน

ผู้ประสงค์จะใช้บริการผ่านเว็บไซต์นี้ อาจต้องให้ข้อมูลส่วนบุคคลของท่านที่จำเป็นต่อการให้บริการดังกล่าว ตัวอย่างของการดำเนินการที่ผู้ใช้บริการต้องแจ้งข้อมูลส่วนบุคคล เช่น การให้ชื่อสำหรับจัดทำประกาศนียบัตร การสำรวจความคิดเห็น เป็นต้น

การใช้ การแลกเปลี่ยน และการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งาน

การเข้าถึงและการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของท่านจะกระทำไปเพื่อประโยชน์เกี่ยวกับเรื่องที่ท่านขอให้ดำเนินการเท่านั้น สบค.อาจนำข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานจากหน่วยงานอื่น มารวบรวม จัดเก็บ ใช้ และเปิดเผย เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ภายใต้กฎหมายที่อยู่ในการกำกับดูแลของ สบค.

สบค. จะไม่นำข้อมูลส่วนบุคคลของท่านไปจำหน่าย หรือนำไปแลกเปลี่ยนหรือเปิดเผยต่อบุคคลอื่นใด อันเป็นการไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน เว้นแต่ ในกรณีดังต่อไปนี้

  • เป็นการดำเนินการตามกฎหมายที่อยู่ในการกำกับดูแลของ สบค.
  • เป็นการดำเนินการตามหน้าที่ ที่กำหนดตามกฎหมาย ตามคำสั่งศาล ตามคำสั่งของผู้มีอำนาจตามกฎหมาย หรือกรณีอื่นใดที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน หรือ
  • เป็นการดำเนินการตามที่จำเป็นในกรณีที่อาจกระทบถึงความปลอดภัยในสวัสดิภาพ ชีวิต และร่างกายของบุคคลอื่น หรือในกรณีที่มีการละเมิดข้อตกลงและเงื่อนไขในการใช้เว็บไซต์ของ สบค.
การรักษาความปลอดภัย

สบค. มีมาตรการและกำหนดวิธีปฏิบัติภายในเพื่อรักษาความลับและความปลอดภัยของข้อมูลข่าวสารของท่าน ซึ่งรวมถึงการกำหนดสิทธิในการเข้าถึงและใช้ข้อมูลความลับ นอกจากนี้ สบค. ยังมีการใช้โปรโตคอล Secure Socket Layer (SSL) Protocol เพื่อจัดให้การสื่อสารข้อมูลระหว่างผู้ใช้และสบค. กระทำผ่านช่องทางสื่อสารแบบปลอดภัยด้วยการเข้ารหัสลับข้อมูลดังกล่าว

การใช้คุกกี้

สบค. ใช้คุกกี้ในการเก็บข้อมูลผู้เยี่ยมชม ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะช่วยให้เว็บไซต์นั้นสามารถให้บริการท่านในครั้งต่อไปได้ตรงตามความต้องการของท่าน แต่ท่านสามารถยกเลิกการให้ข้อมูลคุกกี้ได้ อนึ่ง หากท่านเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของสบค. โดยใช้โปรแกรมค้นผ่าน (search engine) โปรแกรมค้นผ่านดังกล่าวอาจมีการใช้คุกกี้เพื่อเก็บข้อมูลของท่าน ท่านจึงควรศึกษานโยบายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวที่กำหนดโดยโปรแกรมค้นผ่านดังกล่าวด้วย

ข้อตกลงการใช้งาน

สำนักบริการคอมพิวเตอร์ (สบค) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างประโยชน์จากการเรียนรู้ ให้กับสังคมโดยส่วนรวม ซึ่งเป็นภารกิจหลักอย่างหนึ่งของ สบค.ในการบริการวิชาการสู่สังคม

เนื้อหาและสื่อนี้ต้องการให้นักเรียน ประชาชน สามารถเข้ามาศึกษา เรียนรู้ สามารถนำเนื้อหาไปใช้ประโยชน์และ เผยแพร่ต่อได้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์กับสาธารณะเท่านั้นและไม่ถือเป็นการให้คำแนะนำเพื่อใช้ในเชิงวิชาชีพ

ท่านมีอิสระที่จะอ่านและพิมพ์บทความ ข้อความ และสื่ออื่น ๆ นี้โดยไม่มีการเก็บค่าใช้จ่าย สามารถแบ่งปันและนำบทความและสื่ออื่น ๆ ของเรา กลับมาใช้ใหม่ภายใต้ใบอนุญาตแบบ Creative Common และ แบบเปิด ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้:

แพลตฟอร์มออนไลน์ระดับโลกอย่างเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม กูเกิล นับว่ามีอิทธิพลสูงมากต่อชีวิตผู้คนในยุคดิจิทัลที่พึ่งพิงบริการข้อมูลและการสื่อสารแทบจะตลอดเวลาที่ตื่นอยู่ แต่ในเชิงกฎหมายและสังคม ดูเหมือนว่าภาระความรับผิดรับชอบ และการสามารถอธิบายถึงบทบาทนั้น (accountability) ของผู้ประกอบการแพลตฟอร์มต่อสาธารณะกลับไม่ค่อยชัดเจนเท่าใดนัก      

เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ฟรานเซส เฮาเกน (Frances Haugen) อดีตผู้จัดการของเฟซบุ๊กที่ดูแลส่วนงานด้านความถูกต้องของข้อมูลและการจารกรรมตามเว็บไซต์ ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะผ่านสื่อชื่อดังอย่างรายการ 60 Minutes ทางสถานีโทรทัศน์ CBS และหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal ของสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับผลกระทบจากการทำธุรกิจของเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า เฟซบุ๊กเลือก “ผลกำไรมากกว่าความปลอดภัยของผู้ใช้”

เฮาเกนตั้งข้อสังเกตว่า มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเฟซบุ๊กมีอำนาจในการควบคุมความรู้สึกนึกคิดของคนมากกว่า 3 พันล้านคนทั่วโลก โดยตัวเลขดังกล่าวมาจากประมาณการรวมของจำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กและอินสตาแกรมซึ่งก็มีเฟซบุ๊กเป็นเจ้าของ อย่างไรก็ดี เฮาเกนมองว่าทั้งสองแพลตฟอร์มยอดนิยมกลับไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลใดๆ และส่งผลกระทบที่เป็นภัยต่อผู้ใช้อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน

ประเด็นหลักของการเปิดโปงของเฮาเกนมี 4 เรื่องใหญ่ๆ คือ

  1. อินสตาแกรมซึ่งมีผู้ใช้เป็นเด็กก่อนวัยรุ่นหลายล้านคนทั่วโลกส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาวะทางจิตและความรู้สึกต่อรูปลักษณ์ของตัวเองของเด็กๆ เพราะเป็นพื้นที่คัดเลือกแต่ด้านสวยงามและความสมบูรณ์แบบมานำเสนอ ทำให้เกิดการเปรียบเทียบอันนำไปสู่ความรู้สึกสูญเสียคุณค่าในตนเอง และปัญหาสุขภาพอย่างภาวะการกินผิดปกติ (eating disorder)
  2. เฟซบุ๊กอยากให้คนใช้งานเฟซบุ๊กให้ได้นานที่สุด เพื่อผลกำไรจากการขายโฆษณา จึงออกแบบให้ผู้ใช้เสพติดฟีเจอร์ต่างๆ รวมถึงเนื้อหาที่เป็นพิษภัย เช่น ประทุษวาจาหรือการสร้างความเกลียดชัง (hate speech) บนฐานต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการเมือง
  3. เฟซบุ๊กเป็นพื้นที่ล่อลวงของนักค้ายาเสพติดและผู้ค้ามนุษย์ ซึ่งเฟซบุ๊กรู้ปัญหานี้ดี แต่มาตรการจัดการกลับเลี่ยงๆ ไม่ตรงไปตรงมา ทั้งๆ ที่พนักงานของเฟซบุ๊กหลายคนก็พยายามร้องเรียนให้องค์กรเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้
  4. เฟซบุ๊กหลอกลวงนักลงทุนและประชาชน โดยการออกแถลงการณ์ที่อ้างข้อเท็จจริงซึ่งไม่ตรงกับนโยบายหรือการดำเนินการที่เกิดขึ้นจริงในองค์กร

ทั้งนี้ เฮาเกนได้เปิดโปงถึงงานวิจัยซึ่งเฟซบุ๊กได้จัดทำขึ้นเอง และพบว่าเด็กๆ ที่ใช้อินสตาแกรมมีภาวะเสพติดบริการบนแพลตฟอร์มแม้จะรู้สึกไม่มีความสุขจากการเสพเนื้อหาเหล่านั้นก็ตาม

ขณะเดียวกัน ระบบอัลกอริธึมของเฟซบุ๊กก็มุ่งสร้างการมีส่วนร่วมและผูกพันกับแพลตฟอร์มของผู้ใช้ (audience engagement) ด้วยการเน้นการแสดงเนื้อหาที่มียอดกดไลก์กดแชร์สูงบนฟีดข้อมูลของผู้ใช้ โดยไม่สนใจความถูกต้องหรือคุณภาพของเนื้อหา ซึ่งก็มักจะเป็นการฟีดเนื้อหาที่เป็นข่าวกุ เป็นเท็จ หลอกลวง หรือบิดเบือน (disinformation) นั่นเอง

หลังจากส่งข้อมูลให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ และไปให้ปากคำในรัฐสภาของสหรัฐฯ ในประเด็นดังกล่าว เฮาเกนยังเดินสายข้ามทวีปไปให้ข้อมูลกับฝ่ายนิติบัญญัติและผู้มีอำนาจทางนโยบายทั้งในสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป เพื่อรณรงค์ให้มีการกำกับดูแลที่ชัดเจนขึ้นสำหรับบรรษัทเทคโนโลยีระดับโลกที่ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยเรียกร้องให้มีการสร้างความโปร่งใสต่อสาธารณะ โดยเฉพาะเรื่องระบบอัลกอริธึมที่แพลตฟอร์มเหล่านี้ออกแบบและใช้ประโยชน์จากข้อมูลของผู้ใช้จากทั่วโลก

จากสื่อเก่าถึงสื่อใหม่ กับความคาดหวังที่แตกต่าง

แพลตฟอร์มออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมคือสื่อใหม่บนเครือข่ายดิจิทัล ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างเนื้อหาอันหลากหลายบนอินเทอร์เน็ตกับผู้ใช้งาน หากย้อนไปในศตวรรษที่แล้ว ก่อนการมาถึงของอินเทอร์เน็ต ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งเดียวกันนี้จะเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนามของสื่อสารมวลชน ตัวอย่างที่รู้จักกันกว้างขวางก็เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ความคาดหวังต่อสื่อใหม่ในยุคดิจิทัลและสื่อสารมวลชนในยุคดั้งเดิมค่อนข้างจะแตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญโดยเฉพาะในมิติพันธกิจต่อสาธารณะ

ขณะที่หนังสือพิมพ์ หรือหนังสือ มีกองบรรณาธิการ และสำนักพิมพ์ (ซึ่งตามกฎหมายจะเรียกว่าผู้พิมพ์ผู้โฆษณา หรือผู้พิมพ์จำหน่าย) มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบทางกฎหมายสำหรับเนื้อหาใดๆ ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ออกไปสู่สาธารณะ สถานีโทรทัศน์ก็จะมีสำนักข่าว กองบรรณาธิการ หรือหน่วยเฉพาะด้านเนื้อหาซึ่งมีหน้าที่เดียวกันในการตรวจสอบกลั่นกรองเนื้อหาที่เผยแพร่ออกอากาศ ตามข้อกำหนดในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ในปัจจุบัน ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ทั้งหมดต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมชาติหรือ กสทช. ในส่วนผู้ประกอบการที่เป็นใบอนุญาตประเภทธุรกิจ นอกจากจะต้องเสียค่าประมูลใบอนุญาตในจำนวนสูงมากแล้วยังต้องมีภาระในการปฏิบัติตามเงื่อนไขใบอนุญาตและกฎระเบียบในการกำกับดูแลเนื้อหาอีก หากถูกร้องเรียนและถูกวินิจฉัยว่าทำผิดกฎก็อาจถูกตักเตือน สั่งปรับ ระงับการออกอากาศ หรือแม้แต่เพิกถอนใบอนุญาตได้

สื่อมวลชนดั้งเดิมมักถูกเปรียบว่ามีบทบาทเป็น ‘นายประตูข่าวสาร’ (gatekeeper) ที่จะดูแลให้เนื้อหาบางประเภทผ่านไปสู่สาธารณะได้และบางอย่างก็ไม่ให้ผ่านไปได้ ยิ่งไปกว่านั้น ทฤษฎีเชิงบรรทัดฐานแห่งสื่อยังมอบบทบาทของ ‘ฐานันดรที่4’ (the Fourth Estate) หรือ ‘หมาเฝ้าบ้าน’ (watchdog) ให้กับสื่อมวลชนในการตรวจสอบผู้มีอำนาจ และกระบวนการอันเกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะในสังคมว่าถูกต้องตามกฎเกณฑ์หรือมีความชอบธรรมหรือไม่    

ด้วยเหตุนี้ สื่อสารมวลชนในสังคมประชาธิปไตยจึงได้รับการคุ้มครองให้มีเสรีภาพเป็นพื้นฐาน พร้อมๆ กันนั้นก็ถูกคาดหวังให้ใช้เสรีภาพนั้นทำหน้าที่บนมาตรฐานทางจริยธรรม หรือจรรยาบรรณวิชาชีพ หากการกำกับดูแลกันเองของอุตสาหกรรมสื่อโดยองค์กรสื่อ หรือองค์กรวิชาชีพตามเกณฑ์แห่งจริยธรรมทำได้ไม่เพียงพอ องค์กรกำกับดูแลจากภาครัฐก็มักถูกเรียกร้องให้ดูแล เพราะสื่อคือสถาบันที่ส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาของสังคม แม้บางครั้งจะต้องใช้มาตรการแทรกแซงอย่างการเซ็นเซอร์หรือการปิดกั้นเนื้อหาก็ตาม

ยิ่งไปกว่านั้น สื่อมวลชนยังถูกตรวจสอบโดยมหาชนอยู่เนืองๆ หากมีเนื้อหาที่ผิดพลาดหรือไม่เหมาะสมหลุดรอดผ่านสื่อมวลชนออกไป สื่อนั้นๆ ก็อาจจะถูกประจาน โจมตี หรือแม้แต่ประท้วงในพื้นที่สาธารณะ

ขณะเดียวกัน ธุรกิจสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก ยูทูบ หรือทวิตเตอร์ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเนื้อหายอดนิยมกลับไม่ถูกคาดหวังให้แบกรับภาระแบบเดียวกัน ส่วนหนึ่งอาจอธิบายได้จากบริบทของการก่อเกิดที่เป็นส่วนหนึ่งของนวัตกรรมแห่งอินเทอร์เน็ต ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมาจะมีการให้คุณค่าว่าคือพื้นที่แห่งเสรีภาพ ความสร้างสรรค์ และนวัตกรรม ทำให้การปิดกั้น กลั่นกรอง หรือแทรกแซงทางเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตจึงเป็นแนวนโยบายที่ถูกตั้งคำถามหรือแม้แต่ต่อต้านเสมอ

นอกจากนั้น แพลตฟอร์มยอดฮิตเหล่านี้ยังมีสถานะพิเศษจากบริบทแห่งโลกาภิวัตน์ เนื่องจากไม่อยู่ในพื้นที่บังคับใช้กฎหมายในระดับรัฐประเทศ และด้วยอิทธิพลระดับอภิมหาทางเศรษฐกิจของบรรษัทข้ามชาติที่เป็นเจ้าของก็ทำให้มีอำนาจในการต่อรองสูง โดยเฉพาะเมื่อประกอบกิจการในประเทศเล็กๆ แต่กลับมีผู้ใช้งานที่พึ่งพิงบริการมากมายกว่าสองในสามของจำนวนประชากรอย่างประเทศไทย

ความเป็นกลางทางเครือข่าย และภาระรับผิดทางกฎหมายของตัวกลาง

ในอดีตที่ผ่านมา แพลตฟอร์มเหล่านี้ก็มักจะอ้างว่าตนเป็นเพียงตัวกลาง (intermediary) หรือพื้นที่กลางที่เปิดให้ผู้ใช้งานสามารถสร้างสรรค์เนื้อหาได้อย่างเสรี ในทำนองคล้ายๆ กับผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่เป็นเพียง ‘ท่อ’ สำหรับลำเลียงข้อมูล แต่ไม่มีหน้าที่เข้าไปจัดการกับเนื้อหาไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง

ในระดับสากล ยังมีการอ้างถึงความเป็นกลางทางเครือข่าย (net neutrality) ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของอินเทอร์เน็ตตั้งแต่สมัยเริ่มก่อตั้งที่เน้นเรื่องของความเสมอภาคในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตได้อย่างเท่าเทียม กล่าวคือผู้ประกอบการที่ให้บริการเนื้อหาอย่างเว็บไซต์ต่างๆ ควรจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต โดยไม่มีการไม่แบ่งแยก เช่น การปิดกั้น การเร่งหรือลดความเร็วในการเข้าถึงเนื้อหา (เพราะจ่ายเงินมากกว่า หรืออิทธิพลทางการเมือง) เป็นต้น ขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการก็ไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้องกับกิจกรรมบนเครือข่ายของผู้ใช้งาน โดยเฉพาะในด้านเนื้อหา

ในกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องของสหรัฐอเมริกาที่รู้จักกันดีคือมาตรา 230 ของกฎหมายว่าด้วยการสื่อสารที่เหมาะสม (1996 Communication Decency Act) ยังมีการระบุชัดเจนว่า ผู้ให้บริการเครือข่ายและผู้ให้บริการเนื้อหาออนไลน์ไม่มีความรับผิดทางกฎหมายสำหรับเนื้อหาที่ปรากฏหรือแพร่กระจายผ่านพื้นที่ที่มีการให้บริการ โดยมีใจความสำคัญว่า

“ผู้ให้บริการหรือผู้ใช้บริการคอมพิวเตอร์แบบมีปฏิสัมพันธ์ใดๆ จะไม่ถือว่าเป็นผู้จัดพิมพ์หรือผู้พูดของข้อมูลใดๆ ที่มาจากผู้พูดหรือผู้ให้บริการเนื้อหาอื่น”

ถ้อยคำดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในนามของ ’26 คำที่สร้างอินเทอร์เน็ต’ (’26 words that created the internet’) เพราะเป็นการวางหลักการพื้นฐานสำคัญเพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและการสรรค์สร้างนวัตกรรมในพื้นที่ออนไลน์ เนื่องจากหากผู้ให้บริการตัวกลางต้องมารับผิดชอบการกระทำของผู้ใช้งานก็จะกลายเป็นภาระและต้นทุนที่หนักหนา อีกทั้งยังเปิดช่องให้ผู้ให้บริการเซ็นเซอร์เนื้อหาได้ด้วย

ด้วยกรอบนโยบายที่ให้การคุ้มครองทางกฎหมายดังกล่าว จึงส่งผลให้ผู้ให้บริการอย่างยูทูบ (ซึ่งมีกูเกิลเป็นเจ้าของ) และเฟซบุ๊ก สามารถให้บริการและสร้างเครือข่ายการสื่อสารจากเนื้อหาที่ผู้ใช้งานทั่วโลกเป็นผู้ผลิตและนำเข้าสู่ระบบได้อย่างมีพลวัต จนมูลค่าทางธุรกิจเติบโตแบบเท่าทวีคูณพร้อมๆ กับจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มจำนวนขี้นเรื่อยๆ จนในปัจจุบันมีผู้ใช้งานสูงถึงมากกว่าสองพันล้านคนแล้วในทั้งสองแพลตฟอร์ม ส่งผลให้ผู้ประกอบการกลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีผู้ทรงอิทธิพลระดับโลก

ทว่าด้วยสถานการณ์และบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปของแพลตฟอร์มดังจะกล่าวถึงในส่วนต่อไป ก็ทำให้นักการเมืองจากทั้งสองฝั่งในสหรัฐอเมริกา คือทั้งจากพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตตั้งข้อสังเกตว่าบริษัทผู้นำทางเทคโนโลยีเหล่านี้ยังไม่ได้แสดงความรับผิดชอบในการกำกับดูแลเนื้อหาที่อยู่ในระบบอย่างเพียงพอ

ขณะที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ขู่จะยกเลิกมาตรา 230 ดังกล่าว โดยอ้างว่าแพลตฟอร์มเหล่านี้มีแนวโน้มจะเซ็นเซอร์เนื้อหาอนุรักษนิยม รวมถึงโพสต์ต่างๆ ของตนเอง ทางประธานาธิบดีใหม่คือโจ ไบเดน ก็ได้ขอให้สภาคองเกรสทบทวนแก้ไขมาตรา 230 เพื่อให้บริษัทผู้นำทางเทคโนโลยีที่ให้บริการแพลตฟอร์มเหล่านี้ดูแลไม่ให้มีเนื้อหาประเภทประทุษวาจา เนื้อหาสุดโต่ง การแทรกแซงการเลือกตั้ง และข้อมูลเท็จอยู่ในระบบ

อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากแนวทางที่คุ้มครองตัวกลางจากภาระรับผิดทางกฎหมายอย่างของสหรัฐอเมริกาแล้ว ประเทศอื่นๆ ก็มีแนวทางที่แตกต่างพอแยกให้เห็นได้คือ แนวทางในสหภาพยุโรปที่อาจจะไม่ได้พยายามเสริมแรงธุรกิจตัวกลางขนาดสหรัฐฯ แต่ก็มีเงื่อนไขที่ช่วยปกป้องตัวกลางว่าหากตัวกลางมีมาตรการในการดูแลตรวจสอบเนื้อหาก็จะไม่ต้องมีภาระรับผิดทางกฎหมาย หรือแนวทางที่เน้นภาระรับผิดของตัวกลางอย่างในประเทศไทยที่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กำหนดว่าผู้ให้บริการ (หากพิสูจน์ไม่ได้ว่าไม่ได้มีการร่วมมือ ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจ) ต้องรับผิดทางกฎหมายเท่ากับผู้ที่นำเนื้อหาเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

บทบาทที่มากกว่าตัวกลางของแพลตฟอร์มออนไลน์

เมื่อเวลาผ่านไป การสื่อสารของผู้คนได้ย้ายไปสู่พื้นที่ออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ นำมาซึ่งประเด็นทางกฎหมายและความเสี่ยงอื่นๆ มากมายมหาศาล โดยเฉพาะเนื้อหาที่เป็นปัญหาอย่าง ข่าวกุข่าวลวง เนื้อหาบิดเบือน ประทุษวาจา และข้อมูลประสงค์ร้าย ซึ่งล้วนแต่แพร่กระจายสร้างผลกระทบในขอบเขตที่กว้างขวาง รวดเร็วอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน จนนำไปสู่ภาวะที่รู้จักกันในนามของ ‘วิกฤติข้อมูลข่าวสาร’ (information crisis) หรือ ‘ความไร้ระเบียบทางข้อมูลข่าวสาร’ (information disorder) เหล่านี้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มออนไลน์โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียถูกทวงถามความรับผิดชอบจากสังคมมากขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยการกลั่นกรองและกำกับดูแลเนื้อหาบนแพลตฟอร์มเป็นเรื่องที่ถูกตั้งคำถามมากที่สุด

ยิ่งไปกว่านั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าแพลตฟอร์มการสื่อสารที่ทรงอิทธิพลระดับโลกที่ได้เติบโตและสร้างรูปแบบธุรกิจที่โดดเด่นเกินขอบเขตของการเป็นเพียง ‘ตัวกลาง’ อีกต่อไปแล้ว

หากพิจารณาในความหมายดั้งเดิม ‘ตัวกลาง’ เป็นเพียงบุคคลที่สามที่อยู่ในกิจกรรมการแลกเปลี่ยนหรือธุรกรรมระหว่างผู้ประกอบการและผู้บริโภค (ซึ่งอาจจะหมายรวมถึงผู้ที่ต้องการจะสื่อสารเพื่อวัตถุประสงค์ทางสังคมหรือการเมืองด้วย)

ทว่าในปัจจุบัน แพลตฟอร์มออนไลน์เหล่านี้ได้ก้าวไปไกลกว่าด้วยลักษณะการประกอบการแบบใหม่ อันแตกต่างจากการเป็นตัวกลางแบบดั้งเดิมในสองประการสำคัญคือ

  1. การเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อหรือใช้จ่ายของผู้ใช้งานตลอดจนพฤติกรรมในพื้นที่ออนไลน์ของผู้ใช้งานซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวกับการใช้จ่ายโดยตรง
  2. การใช้ประโยชน์จากข้อมูลของผู้ใช้งานหรือเนื้อหาที่ผู้ใช้งานเป็นผู้ผลิตและนำเข้าสู่ระบบเพื่อสร้างรายได้หรือสร้างความได้เปรียบจากการประกอบการในเครือข่ายออนไลน์

นอกจากนี้ แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ยังแสดงบทบาทในการจัดการกับเนื้อหาในระบบอย่างเห็นได้ชัดมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกำหนดการเข้าถึงข้อมูล หรือแนวทางการจัดการกับข้อมูลที่อยู่ในระบบในลักษณะต่างๆ ผ่านระบบอัลกอริธึม

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือในกรณีของเฟซบุ๊ก ที่ผ่านมา ก่อนหน้าเดือนตุลาคมปีที่แล้วที่ทางแพลตฟอร์มมีการปรับเปลี่ยนข้อกำหนดด้านการให้บริการเนื้อหาครั้งใหญ่ เฟซบุ๊กเคยมีแนวทางในการปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหา หากเป็นข้อมูลที่ผิดกฎหมายระดับประเทศ และมีการร้องขอมาจากตัวแทนของรัฐบาลนั้นๆ แต่ว่าคนในประเทศอื่นๆ จะสามารถเข้าไปดูเนื้อหานั้นได้อยู่ แต่ก็มีบางกรณีเหมือนกันที่เฟซบุ๊กเพิกเฉยต่อคำขอให้เซ็นเซอร์จากทางรัฐบาล โดยอ้างเหตุผลว่าผู้ใช้งานมีเสรีภาพในการแสดงออกหากไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีและไม่ได้ละเมิดนโยบายด้านเนื้อหาของเฟซบุ๊ก

ทว่านับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2020 เป็นต้นมา เฟซบุ๊กได้เริ่มนโยบายจำกัดการเข้าถึงเนื้อหา บริการ หรือข้อมูลหากพิจารณาว่าสามารถทำให้บริษัทหลีกเลี่ยงหรือลดความเสี่ยงจากการโดนฟ้องร้อง กล่าวคือ เฟซบุ๊กจะสามารถลบเนื้อหาสุ่มเสี่ยง ที่อาจส่งผลให้บริษัทหรือบุคคลอื่นๆ โดนฟ้องร้องได้ โดยไม่ต้องรอคำขอจากทางรัฐบาลของประเทศหนึ่งๆ

พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ เนื้อหาใดๆ ที่ไม่ได้ละเมิดนโยบายด้านเนื้อหาของเฟซบุ๊ก แต่เข้าข่ายละเมิดกฎหมายในบางประเทศ จากเดิมที่จะถูกซ่อนเพียงในประเทศนั้นหลังได้รับการร้องขอจากรัฐบาลหรือหน่วยงานต่างๆ ต่อไปจะมีโอกาสโดนลบออกทันที หากเฟซบุ๊กพิจารณาว่าเสี่ยงที่จะทำให้บริษัทโดนฟ้องร้อง

ด้วยนโยบายและแนวทางปฏิบัติดังกล่าว ทำให้เฟซบุ๊กดำเนินการเหมือนเป็นสำนักพิมพ์ที่นอกจากจะมีอำนาจตัดสินใจเพื่อจัดการกับเนื้อหาในระบบแล้ว ยังมีสิทธิในการอนุญาตให้ใครเข้าถึงข้อมูลก็ได้ และจะเซ็นเซอร์เนื้อหาใดๆ อย่างไรก็ได้ตามที่เห็นสมควร

ยิ่งไปกว่านั้น ในสถานการณ์ที่เฟกนิวส์ หรือ ดิสอินฟอร์เมชัน (หมายความรวมถึงข่าวกุ ข้อมูลลวง เนื้อหาบิดเบือน) แพร่กระจายกว้างขวางจนเป็นปัญหา เฟซบุ๊กมีการใช้ทั้งระบบอัตโนมัติและคนทำการค้นหาเครือข่ายหรือโครงการแพร่ข้อมูลเท็จ/ข้อมูลที่บิดเบือนขนาดใหญ่และทำการปิดบัญชีผู้ใช้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ในปี 2562 เฟซบุ๊กปิดบัญชีที่มีพฤติกรรมละเมิดข้อกำหนด เช่น บัญชีปลอม เผยแพร่ข่าวปลอมในไทยจำนวน 10 บัญชี หรือในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เฟซบุ๊กปิดบัญชีผู้ใช้ที่มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์และมีความเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operation หรือ IO)ในประเทศไทยจำนวน 77 บัญชีผู้ใช้ 72 เพจ 18 กลุ่ม

ในลักษณะใกล้เคียงกัน ในเดือนตุลาคม ปี 2563 ทวิตเตอร์ซึ่งเป็นอีกแพลตฟอร์มยอดนิยมในประเทศไทยโดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ปิดบัญชีที่ละเมิดข้อกำหนดของแพลตฟอร์มและมีความเชื่อมโยงกับปฏิบัติการข่าวสารโดยเป็นบัญชีไทยจำนวน 926 บัญชี

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่าในบางกรณีที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมซึ่งมีอำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ได้ประสานและขอให้ทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ดำเนินการปิดกั้นการเข้าถึงบัญชีที่เผยแพร่เนื้อหาผิดกฎหมาย แต่แพลตฟอร์มทั้งสองไม่ได้ดำเนินการตามที่ร้องขอทั้งหมดและมีการเจรจาต่อรองด้วยเหตุผลต่างๆ ดังได้กล่าวไปแล้ว

นอกเหนือจากการซ่อนและลบทิ้งเนื้อหาในระบบโดยตรงแล้ว แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ยังใช้วิธีการอื่นในการจัดการกับเนื้อหาที่พิจารณาว่าเป็นปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการตัดช่องทางการหารายได้ของผู้โพสต์วิดีโอบนยูทูบ (demonetization) การติดเงา (shadow banning) ซึ่งก็คือการแบนโดยการบล็อกการมองเห็นของบัญชีใดๆ ต่อคนอื่นๆ ในหน้าฟีด การเข้าไปจัดการกับการจัดอันดับความนิยมของเนื้อหาหรือเทรนดิงในหน้าข่าวสาร

ตัวอย่างที่กล่าวถึงไปทั้งหมดสะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินการที่สะท้อนจุดยืนที่ไปไกลมากกว่าการเป็น ‘ตัวกลาง’ ตามนิยามดั้งเดิม และด้วยการออกมาเปิดโปงจากคนในองค์กรเองอย่างกรณีของเฮาเกนและเฟซบุ๊ก ถึงรูปแบบการทำธุรกิจบนเนื้อหาที่มีแนวโน้มจะเป็นอันตรายโดยไม่สนใจผลที่ตามมาต่อสาธารณะ จึงเป็นที่น่าสนใจว่าการต่อสู้ระหว่างบรรษัทยักษ์ใหญ่ทางข้อมูลกับฝ่ายนโยบายและการกำกับดูแลจะดำเนินต่อไปอย่างไร

ประเด็นเหล่านี้ได้มีการถกเถียงและอภิปรายกันอย่างกว้างขวางในเวทีการอภิบาลอินเทอร์เน็ต (internet governance) ทั้งในระดับโลก และระดับภูมิภาค และน่าจับตาอย่างยิ่งว่าในระดับประเทศของเรา ผู้ที่เกี่ยวข้องทางนโยบายจะสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคมและขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร หรือจะปล่อยให้แพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นเพียงพื้นที่กระจายข่าวกุข่าวลวงกับเนื้อหาดราม่าควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์จากข้อมูลของผู้ใช้โดยไร้การกำกับดูแลต่อไป

  • สุขแบบสัตว์ๆ

    คุณว่าสัตว์มี ‘ความสุข’ เหมือนมนุษย์ได้หรือเปล่า เมื่อหมากระดิกหาง หรือแมวเข้ามาคลอเคลีย คุณคิดว่าพฤติกรรมเหล่านั้นแสดงถึงความสุขของสัตว์ไหม หรือว่ามันก็มี ‘ความสุข’ ในแบบของมันเองที่มนุษย์เราไม่อาจเข้าใจได้!

  • ชีวิตหมูป่าและเรื่องที่ต้องติดตามเมื่อออกจากถ้ำหลวง

    โสภณ ศุภมั่งมี เขียนถึงวิธีรอดชีวิตของเด็กติดถ้ำ และปัญหาด้านสุขภาพจิตที่เด็กๆ ต้องเจอหลังออกมา

  • เนื้อไม่สัตว์

    ประชากรโลกเพิ่มมากขึ้นทุกทีๆ สิ่งที่ตามมาคือปัญหาแหล่งอาหารที่เริ่มจะไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอาหารหลักอย่าง ‘เนื้อสัตว์’ - แต่ในอนาคตอันใกล้ เราอาจจะได้เห็น เนื้อ (ไม่) สัตว์ที่ได้มาโดยไม่ต้องคร่าชีวิต มาวางขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตก็เป็นได้

  • เจลยาคุมสำหรับท่านชาย ทางเลือกใหม่ของการคุมกำเนิด

    หากเทียบกันระหว่างผู้หญิงและผู้ชายในเรื่องของ 'การคุมกำเนิด' ดูเหมือนว่าภาระหน้าที่จะไปตกอยู่กับผู้หญิงเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นยาที่ใช้ทานหรือฉีด แต่ตอนนี้ ท่านชายทั้งหลายอาจได้รับเกียรติทำหน้าที่ประจำนั้นบ้าง กับ 'เจลคุมกำเนิด' ที่แต่ทาถูๆ ก็ทำให้จำนวนสเปิร์มลดลง แต่จะทาที่ไหน ทำงานอย่างไร โสภณ ศุภมั่งมี จะพาเราไปรู้จักกับมันกันให้มากขึ้น

  • สู้ความอยุติธรรม

    นำชัย ชีววิวรรธน์ พาไปรู้จักสมองของมนุษย์เมื่อต้องเจอกับความอยุติธรรม เราจะรับมืออย่างไร และจะควบคุมอารมณ์ตัวเองอย่างไรในภาวะเช่นนี้

  • คนสมัยใหม่กับอินเทอร์เน็ต

    จิตรทัศน์ ฝักเจริญผล เขียนถึงพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียของคนรุ่นใหม่ ตั้งแต่การหายตัวไป (ghosting) การโคจรอยู่รอบตัว (orbiting) ไปจนการเลือกใช้แพลตฟอร์มที่แตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์