ทำไมคนเราถึงต้องมี Passion

‘Passion’ คำที่คนในสังคมพากันพูดถึงตลอดช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา และมักถูกหยิบมาพูดถึงในฐานะ ‘สรณะ’ ที่พึ่งทางใจสำหรับการใช้ชีวิตของใครหลายคน 

‘ความหลงใหล’ ในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือ ‘ความทุกข์และความเจ็บปวด’ การยอมทนกับความทุกข์เพื่อสิ่งที่เรารัก และหลากหลายคำนิยามที่ทุกคนมีให้กับคำว่า Passion 

และไม่ว่าเราให้นิยามแบบไหนก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เราอยู่ภายใต้โลกที่คนส่วนมากบอกว่า “ต้องใช้ชีวิตอย่างมี Passion” เพราะเป็นองค์ประกอบหนึ่งของความสำเร็จและสังคมมักชื่นชมการมีสิ่งนี้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่หลายคนมองว่า Passion กลายเป็นของต้องมี

“มีแม่มาปรึกษาว่า ลูกอยู่ป.5 แล้วยังไม่เจอตัวเองเลย อย่างที่บอกว่า ในยุคหนึ่งคำว่า Passion มันกลายเป็นเหมือนปัจจัยที่ 5 ในการดำรงชีวิต ลูกเราจะมีแค่อาหาร เครื่องนุ่งห่มไม่ได้ จะต้องมี Passion ด้วย”

คือความหนักใจของคุณแม่ที่มาปรึกษา ‘หมอโอ๋’ ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน ในวันที่ร้อนใจกับการตามหาตัวตนและ Passion ของลูก

แม้หลายคนจะมอง Passion เป็นสิ่งสำคัญ แต่หมอโอ๋กลับมองสิ่งนี้เป็นเสมือน ‘ความรัก’ ที่มีก็ดี ไม่มีก็ตามหาได้ และถึงไม่มีมัน เราก็ยังคงมีชีวิตอยู่ได้

ในความเป็นจริง ขณะที่หลายคนกำลังเปิดหนังสือฮาวทูศึกษาวิธีค้นหา Passion ของตัวเอง หรือกำลังมีความสุขกับการมี Passion อีกหลายคนก็เลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างไร้ Passion 

เพราะทุกคนต่างมีคำตอบในชีวิตตัวเองที่ไม่สามารถลอกกันได้ และการตามหาตัวตนหรือสิ่งที่ชอบกลายเป็นเรื่องยากเหลือเกินในสังคมที่การใช้ชีวิตยังเป็นความท้าทายรายวันสำหรับใครหลายคน 

mappa ชวนฟังเรื่องราวของ ‘Passion’ เพื่อหาคำตอบว่า เราจำเป็นต้องมีจริง ๆ หรือเปล่า ผ่านมุมมองของพ่อ เเม่ ลูก เเละหมอโอ๋ – ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร ให้เข้าใจถึงคำคำนี้มากขึ้น 

Passion ของพ่อและแม่ : ครอบครัว คือ คนสำคัญในการเดินทางค้นหาตัวตนและ Passion ของลูก

“Passion เป็นแรงจูงใจ สิ่งสำคัญในการก่อสร้างความคิดให้ได้รู้ถึงความต้องการที่แท้จริง เป็นสิ่งเร้ากระตุ้นสิ่งแรก คนไหนไม่มีสิ่งนี้ จะทำอะไรก็ขาดแรงจูงใจ ทำไม่สำเร็จ ผมก็อยากจะให้ลูกสาวไม่ขาด Passion แล้วก็ต้องหาตัวเองให้เจอ”

สำหรับ ‘พ่อนิวัติ’ Passion เป็นสิ่งที่ลูกสาว ‘เทียน’ วัยม.6 ต้องมี

“มันเป็นเครื่องกำหนดชีวิตเลย สำคัญมากกว่าความฝันเสียอีก ความฝันมันจับต้องไม่ได้ แต่ Passion คือ tool ในการสำเร็จในภารกิจนั้น ๆ ของลูก”

ทำไมคนเราถึงต้องมี Passion
ทำไมคนเราถึงต้องมี Passion
พ่อนิวัติ

เพราะความฝันเป็นนามธรรมที่ไม่อาจจับต้องได้และฉายภาพไม่ชัดเจนเท่าแรงผลักดันให้ลงมือทำบางสิ่ง และเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องช่วยลูกค้นพบ Passion

“ผมจะรู้สึกโทษตัวเองว่า ทำไมถึงทำให้ลูกไม่มี Passion” 

“คุณพ่อ คุณแม่ต้องเสียสละครับ เพราะว่าลูกหนึ่งคน เราสร้างมาแล้ว อย่าทำลายความฝันของลูกด้วยการไม่ให้เขาเห็นตัวเอง”

“Passion เป็นแรงบันดาลใจ เป็นพลังภายในที่จะทำให้ลูกก้าวไปข้างหน้าอย่างมีความสุข ความสนุก แล้วก็ไม่รู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำอยู่มันเป็นการบังคับ แต่มันมาจากความตั้งใจของเขา”

ทำไมคนเราถึงต้องมี Passion
ทำไมคนเราถึงต้องมี Passion
พ่อณรงวิทย์

‘ความสุข ความสนุก และไม่บังคับ’ 3 คำสำคัญในนิยามคำว่า Passion ของ ‘พ่อณรงวิทย์’ สำหรับ ‘จริญญา’ ลูกสาวนักกีฬาว่ายน้ำ ถึงอย่างนั้น ‘ความรู้สึกปลอดภัย’ ก็เป็นอีกสิ่งสำคัญที่คุณพ่อต้องมอบให้ลูก 

“เขาอยากจะเป็นอย่างอื่นก็ได้ แต่เขาก็ยังเป็นน็อตตัวหนึ่งในสังคม พ่อก็ต้องอยู่ข้างหลังเขาเหมือนกำแพงที่ทำให้เขารู้สึกว่า ถ้าจะล้มลงมา เขามีกำแพงให้พิงอยู่ ให้รู้สึกปลอดภัยเหมือนตอนที่เขาว่ายน้ำเข้าหาฝั่งโดยที่เราอยู่ข้าง ๆ แต่ห้ามเกาะ เขาต้องไปด้วยตัวเอง ถ้าเขาสนุก เขาก็ทำต่อ ถ้าไม่สนุกก็เลิก”

การเข้าใจและไม่คาดหวังให้ตัวตนและความชอบของลูกในตอนนี้คงอยู่แบบเดิมตลอดไป ก็เป็นความรู้สึกปลอดภัยรูปแบบหนึ่ง

ทำไมคนเราถึงต้องมี Passion
ทำไมคนเราถึงต้องมี Passion
พ่อบุญกรอง

การสนับสนุนให้ลูกเจอ Passion ด้วยการทดลองทำกิจกรรมหลากหลาย สิ่งที่ตามมา คือ ‘ทุน’ ไม่ใช่ทุกบ้านที่จะสนับสนุนลูกได้โดยไม่มีขีดจำกัด เช่นครอบครัวของ ‘พ่อบุญกรอง’ ที่อยากให้ลูกทบทวนตัวเองก่อนว่าอยากทำจริงๆ ก่อนลงมือทำลงลึก

“มันต้องมาพิจารณาอีกครั้งนะ การใช้ชีวิตมันไม่ได้เหมือนละคร ยิ่งกว่าละครอีก เราต้องบอกน้องว่า ก่อนจะทำอะไรพิจารณาตัวเองให้แน่ ๆ เพราะกว่าเราจะหาเงินได้ มันลำบาก ไม่เหมือนแต่ก่อน ยุคนี้ในข้าวยากหมากแพง เป็นยุคที่ต้องเก็บแล้ว ถ้าไม่คิดแบบนี้ ต่อไปเราจะยิ่งลำบาก”

Passion ของลูก : เป็นแรงขับเคลื่อนที่ทำให้อยากทำอะไรบางอย่าง 

การได้ตีแบดมินตันกับพ่อถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ ‘เอ็ม’ ชั้นม.6 ค้นพบ Passion เขานิยามสิ่งนี้ว่า เป็นสิ่งที่ชอบทำและทำได้เรื่อย ๆ ไม่รู้สึกเบื่อ

“สำหรับผมมีก็ดี เราจะได้มีอะไรทำตลอดเวลา ไม่รู้สึกเบื่อกับชีวิต ก่อนหน้านี้ผมไม่มี Passion เหมือนใช้ชีวิตไปวันๆ ผมว่าคนที่เขารู้สึกเบื่อชีวิตเขาอาจจะไม่มี Passion อย่างผมเบื่อ ๆ ผมก็จะไปตีแบดมินตันครับ ผมว่า Passion ก็ควรมี”

ทำไมคนเราถึงต้องมี Passion
ทำไมคนเราถึงต้องมี Passion
‘เอ็ม’ ชั้นม.6

นักเรียนวัย 16 ปีที่เพิ่งกลับมาจากการไปเรียนต่างประเทศ ‘พิม’ ทำให้ได้สัมผัสกับคำว่า ‘อิสระ’ ออกจากกรอบที่สังคมและผู้ใหญ่สร้าง มีโอกาสได้มีความคิดเป็นของตัวเอง และทำให้พิมรู้จักกับ ‘ตัวตน’ ของตัวเอง อิสระที่ได้เรียนรู้และลงมือทำสิ่งใหม่ ๆ จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการตาม Passion ของพิม

“เราอยู่ในสังคมที่อนุญาตให้เราเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ไม่ได้ limite ความคิดว่า เราจะต้องทำอะไร เขาให้อิสระกับเรา เขาสามารถทำให้รู้ว่า สิ่งที่เราต้องการจริง ๆ มันคืออะไร”

ทำไมคนเราถึงต้องมี Passion
ทำไมคนเราถึงต้องมี Passion
พิม
ทำไมคนเราถึงต้องมี Passion
ทำไมคนเราถึงต้องมี Passion
มุก

หาก Passion จะหมดหรือหายไป สำหรับ ‘มุก’ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 เป็นเรื่องปกติ 

“ถ้าเป็นเมื่อก่อนสัก 2 -3 ปีก่อน เราคิดว่า Passion จำเป็นมาก ๆ แต่พอเห็นมุมมองของผู้ใหญ่หลายคน เราเปิดรับความคิดเห็นคนอายุอื่น ๆ ก็เลยเข้าใจว่า จริง ๆ มันไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต มันมา ๆ หาย ๆ หรือจะไม่มี Passion เราก็ต้องใช้ชีวิตต่อไป”

มุกเคยอยู่ในจุดที่มี Passion มาก ๆ และเคยเผชิญอาการหมด Passion ทำให้มุกตกผลึกความคิดได้ว่า Passion ไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตมากขนาดนั้น เพราะไม่ว่าอย่างไร ชีวิตของมุกก็ยังต้องดำเนินต่อไป ไม่ว่าจะมี Passion หรือไม่ และการใช้ชีวิตแต่ละวันให้ดีก็สำคัญไม่แพ้กัน

Passion ของ ‘หมอโอ๋’ ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร : ‘การค้นหาตัวเองเกิดขึ้นได้ตลอดชีวิต’ 

‘การค้นหาตัวเอง’ เกิดขึ้นได้กับคนทุกวัยในทุกจังหวะชีวิต 

หลายบ้านมองว่า passion คือปัจจัยที่ 5 ของชีวิต พ่อแม่จำนวนไม่น้อยจึงเข้ามาปรึกษาเรื่อง Passion ของลูกกับหมอโอ๋ 

‘ลูกไม่เก่งหรือถนัดทำอะไร’ เป็นอีกหนึ่งความกลัวที่พ่อแม่มีรองจากกลัวลูกไม่มี Passion สำหรับพ่อแม่บางคน ความถนัดไม่ได้หมายถึงเพียงสิ่งที่ทำได้ดี แต่สิ่งนี้ถูกผูกไว้กับเรื่องอาชีพ ความกังวลถึงอนาคตเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมพ่อแม่หลายคนอยากให้ลูกค้นพบ Passion แต่การจะตามหา Passion หรือความถนัด จำเป็นต้องใช้เวลาในการค้นหาตัวเอง

“‘Passion’ เหมือนความรัก มีก็ดี ไม่มีก็ตามหาได้ ยิ่งกดดันว่าต้องหา เราอาจยิ่งไม่เจอ ไม่มีเราก็อยู่ได้ เพราะฉะนั้น เราก็แค่อยู่กับมันอย่างตรงไปตรงมา”  

สำหรับหมอโอ๋ ‘ความรัก’ กับ ‘Passion’ เป็นสิ่งที่คล้ายกัน คือ ต้องใช้เวลาในการค้นหา เพราะการจะเจอคนที่ใช่ต้องอาศัยจังหวะเวลา Passionก็เช่นกัน

ทำไมคนเราถึงต้องมี Passion
ทำไมคนเราถึงต้องมี Passion
‘หมอโอ๋’ ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน

เพราะการค้นหาตัวเองเกิดขึ้นได้ตลอดชีวิต ไม่มีวันหมดอายุหรือเกณฑ์ตายตัวว่าเราต้องเจอหรือหยุดค้นหาตัวตนเมื่อไร หมอโอ๋เองก็เพิ่งพบว่า การเขียนหนังสือเป็นสิ่งที่ทำได้ดีและมีความสุขในวัย 30 ย่าง 40 ปี  จากนิสัยชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก ค่อย ๆ สะสมจนกลายเป็นความถนัด

การค้นพบตัวตนหรือความชอบอาจไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่นที่ใคร ๆ ก็มักจะบอกกันว่า เป็นวัยแห่งการค้นหาตัวเอง เรายังคงมีเวลาทั้งชีวิตเพื่อค้นหา ในจังหวะชีวิตหนึ่งเราอาจจะค้นพบ Passion ความชอบ หรือความถนัดที่แตกต่างไปจากเดิม 

“เด็ก 2 ขวบอาจค้นหาตัวเองว่า ฉันเดินได้ ฉันคว้าของได้ ฉันชอบเล่นของเล่นอันนี้ มันก็เป็นความหลงใหลใฝ่ฝัน หรือเป็นความสุขในการทำบางสิ่งบางอย่าง เด็กบางคนเขาอาจจะมี Passion กับการกินนม ฉันมีความสุข อยากมีชีวิตอยู่เพื่อการกินนม”

ทำไมคนเราถึงต้องมี Passion
ทำไมคนเราถึงต้องมี Passion

ใจความสำคัญของการค้นหาตัวตนและ Passion ไม่ได้อยู่ที่ว่า ปลายทางเราจะค้นพบสิ่งที่เราตามหาหรือไม่ แต่อยู่ที่ระหว่างทางเราได้เรียนรู้อะไร 

“การที่เราไม่หยุดเรียนรู้ ไม่หยุดค้นหาตัวเอง สร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้เราเจอว่า สิ่งที่เราทำแล้วมีความสุขต่างหากที่สำคัญ อีก 10 ปีมาสัมภาษณ์ใหม่ หมออาจจะเบื่อการเขียนหนังสือไปแล้ว ชอบการท่องเที่ยวแทน มันจะเปลี่ยนไปอีกก็ได้ ซึ่งก็ถือเป็นการเรียนรู้ การเติบโต และรู้จักตัวเองรูปแบบหนึ่ง”

“Passion เกิดขึ้นและเปลี่ยนได้ตลอดชีวิต ไม่ได้ต้องแบบเจอแล้วเจอเลย หรือไม่เจอแล้วต้องรู้สึกแย่กับมัน เจอก็ดี ไม่เจอก็ไม่เป็นไร เพราะชีวิตมันมีความหมายมากกว่าการอยู่ด้วยคำว่า Passion” 

เส้นทางค้นหา Passion ของลูก ที่พ่อแม่เป็น ‘ผู้สนับสนุน’

“ลูกจะเป็นคนเจอ Passion ของตัวเอง แต่พ่อแม่จะเป็นคนช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมและโอกาสในการที่ลูกจะได้เจอสิ่งชอบ”

พ่อแม่ยังคงเป็นคนสำคัญในทุกการเดินทางของลูก และในการเดินทางค้นหา Passion เองก็เช่นกัน แต่บทบาทไม่ใช่ผู้บังคับทิศทาง แต่เป็น ‘ผู้สนับสนุนและผู้สังเกตการณ์’ ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและเปิดโอกาสให้เด็กคนหนึ่ง พวกเขาก็พร้อมที่จะหาคำตอบด้วยตัวเอง

ทำไมคนเราถึงต้องมี Passion
ทำไมคนเราถึงต้องมี Passion

‘สังเกต ไม่ปิดกั้น ตั้งคำถาม และปล่อยให้ว่าง’ 4 Steps จากหมอโอ๋ที่ไม่ใช่ ‘How to ทำอย่างไรให้ลูกเรามี Passion’ แต่เป็นคู่มือสำหรับพ่อแม่ให้เข้าใจบทบาทตัวเองในการเดินทางครั้งนี้มากขึ้น 

“ฝรั่งจะมีคำว่า ‘fan the flames’ ลูกอาจจะมีประกายอะไรบางอย่าง เรามีหน้าที่พัดโบกให้มันปะทุ เห็นชัดขึ้น พ่อแม่อาจจะช่วยด้วยการสังเกต เด็กบางคนอาจจะเกิดมากับความถนัดบางอย่าง เราก็สังเกตว่า ลูกเราถนัดหรือมีความสุขกับการทำอะไร ทำแล้วตาเขามีประกาย”

หมอโอ๋มองว่า บางครั้งสิ่งที่ลูกมีความสุขหรือชอบทำอาจไม่ใช่กิจกรรมหรือพฤติกรรม แต่เป็น ‘คุณลักษณะ’ ที่เกิดขึ้นในความชอบนั้น เช่น ลูกชอบเล่นเกมไม่ได้แปลว่า ลูกเรามี Passion กับการเป็นเกมเมอร์ แต่เขาอาจชอบบางอย่างในการเล่นเกม เช่น การแข่งขัน การไม่ยอมแพ้ การได้สื่อสาร และได้สนุกเฮฮากับเพื่อน การสังเกต ทำให้เราเห็นสิ่งเหล่านั้น

‘ทำไมชอบทำแต่เรื่องไร้สาระ’ คำพูดที่ผู้ใหญ่บางคนมักบอกกับเด็ก เมื่อเห็นอ่านการ์ตูน เล่นเกม หรือเต้น อาจมาจากความหวังดี แต่บางทีอาจทำให้เด็กเลือกไม่ทำสิ่งที่เขาสนใจ แต่จุดเริ่มต้นของ Passion หลายคนมาจากสิ่งที่ผู้ใหญ่บางคนบอกว่าไร้สาระ 

ทำไมคนเราถึงต้องมี Passion
ทำไมคนเราถึงต้องมี Passion

บางที การไม่ปิดกั้น ว่าสิ่งไหนคือสิ่งไร้สาระ อาจไม่ใช่เพียงการปิดกั้นเขาจากความสนุก แต่อาจหมายถึงการปิดกั้นเขาจากการค้นหาตัวเอง

อีก step หนึ่งคือ การตั้งคำถาม หรือการสร้างบทสนทนา สำหรับหมอโอ๋ คำถามที่ไม่ว่าเด็กยุคไหนก็เคยถูกถามอย่าง “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” ไม่ต่างอะไรกับการปิดกรอบสำหรับเด็กที่ยังไม่ได้เห็นโลกกว้าง  

“พอลูกตอบว่านึกไม่ออก ก็เดือดร้อนว่าทำไมลูกถึงไม่มี Passion ทำไมถึงไม่รู้จักตัวเอง แย่กว่านั้นคือ เด็กบางคนตอบไปแล้ว กลับถูกบอกว่าจะเอาอะไรกิน มันไม่ใช่แค่ไม่สร้าง แต่มันทำลายและบั่นทอนสิ่งที่เป็นความสุข ความฝัน และความหวังของเขาด้วย”

“แทนที่จะถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร เปลี่ยนเป็นถามว่าหนูอยากโตไปเป็นคนแบบไหน หนูอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรในโลกนี้ หนูชอบตัวเองตอนไหน หรือหนูมีความสุขกับการทำอะไรดีกว่า บางทีการค่อย ๆ frame ให้มันประกอบร่างสร้างตัวตนอาจจะง่ายกว่า ทำให้เขาสะท้อนตัวตนออกมาแล้วค่อย ๆ เจอความเป็นตัวเอง” 

และ step สุดท้าย คือ การปล่อยให้ว่าง ตารางชีวิตของเด็กหลายคนถูกอัดแน่นไปด้วยกิจกรรมหลากหลายที่พ่อแม่พาไปทำ ทุกช่องของตารางชีวิตถูกเติมด้วยชื่อของกิจกรรม แต่ไม่มีช่องไหนเลยที่เขียนว่า ‘ว่าง’ หรือปล่อยทิ้งไว้ บางครั้งพ่อแม่อาจลืมไปว่า เพียงแค่มีจังหวะให้พัก เด็กคนหนึ่งก็อาจค้นพบสิ่งที่ชอบได้เหมือนกัน

“บางที Passion มันเจอตอนนั่งเบื่อ ๆ โง่ ๆ เวลาว่าง ๆ ลูกชอบทำอะไร อันนั้นแหละมันคือสิ่งที่เขาถนัด ทำแล้วมีความสุข บางทีเขาแค่อยากนั่งหายใจเฉย ๆ ไม่ใช่ว่าไม่ควรจะส่งลูกไปทำนู่นทำนี่ แต่ฟังเสียงเขาเยอะ ๆ ถ้าเขามีเวลาเป็นของตัวเอง เขาจะมีเวลาสร้างสรรค์สิ่งที่เขารัก”

Passion ของลูก คือ ความหวังที่เป็น ‘ทางรอด’ ของครอบครัว

ถึง Passion และตัวตนจะเป็นของลูกแต่สำหรับบางบ้านนิยาม Passion และตัวตนของลูกเป็นหมุดหมายบนแผนที่อนาคตของครอบครัวว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“พ่อแม่ก็เป็นเหยื่อของสังคมที่กดทับ ความยากลำบาก ความไม่มีทางรอด การใช้ชีวิตแบบไม่มีความฝัน เขาก็เป็นเหยื่อคนหนึ่งทำให้เขาต้องดิ้นรนหาทางรอดในการสร้างมนุษย์คนหนึ่งขึ้นมาเพื่อสานต่อสิ่งเหล่านั้น หรือความหวังที่จะออกจากความยากลำบากนี้”

เพราะพ่อแม่เองก็เผชิญความยากลำบากและการเติบโตในสังคมที่ไม่โอบอุ้มให้เรามีความฝันเช่นเดียวกัน พ่อแม่หลายคนจึงไม่สามารถทำตามความฝันได้แล้ว หรือบางคนอาจไม่เคยเอื้อมไปถึงความฝันตรงนั้นเลย การกระทำของลูกจึงเป็นเสมือนความหวังและความฝันของเขา ความฝันที่เคยถูกเก็บไว้จึงถูกฝากฝังไว้กับชีวิตที่กำลังเติบโต และสำหรับบางบ้าน มันหมายถึงทางรอดของปากท้องจริง ๆ 

ทำไมคนเราถึงต้องมี Passion
ทำไมคนเราถึงต้องมี Passion

“หลายครั้งที่ Passion ของเด็กเป็นอนาคต ความหวัง และทางรอดของพ่อแม่ ถ้าลูกมี Passion กับอาชีพที่ดี มันหมายถึงการยกระดับชีวิต ชีวิตเราจะดีขึ้นได้ถ้าลูกเราเก่ง สร้างรายได้มาก พ่อแม่หลายคนจึงฝากชีวิตไว้ที่ Passion ของลูก บางทีพ่อแม่คงไม่มอง Passion เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตลูก แต่มองเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา”

ในมุมมองของหมอโอ๋มองว่า ความคาดหวังของพ่อแม่ที่จะให้ลูกค้นพบสิ่งที่ชอบไม่ใช่เรื่องผิดและไม่ใช่เรื่องยากที่จะเข้าใจ เพราะสำหรับพ่อแม่บางคน สิ่งนี้อาจเป็นความมั่นคงทางใจและความหวังที่เป็น ‘ทางรอด’ ของครอบครัว

การฝากความหวังไว้กับ Passion ของลูกจึงเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ และพร้อมที่จะพาตัวเองเข้าไปมีบทบาทในฐานะ ‘ผู้บังคับทิศทาง’ ในการค้นหาตัวเองของลูกเพื่อรักษาความหวังนั้นเอาไว้

“พ่อแม่กลับมาตั้งหลักตรงนี้ก่อนว่า การเจอตัวเองไม่เท่ากับการเลือกคณะ การเลือกอาชีพ การเจอตัวเองเป็นกระบวนการหนึ่งที่เกิดขึ้นและเรียนรู้ได้ ในขณะเดียวกัน การไม่เจอตัวเองก็ไม่ได้แปลว่า ล้มเหลว ไม่เจอตัวเองวันนี้ ก็อาจเจอตัวเองข้างหน้า การไม่เจอตัวเองข้างหน้าก็ไม่ได้แปลว่า เราจะมีชีวิตอยู่ต่อไปไม่ได้ หลายคนก็มีชีวิตอยู่แบบที่ไม่ได้เจอตัวเอง เขาก็อยู่ได้”

ในฐานะ ‘ผู้บังคับทิศทาง’ พ่อแม่บางคนจึงต้องแบกรับความกดดันบางอย่างไว้ หลายคนจึงรู้สึกผิดเมื่อลูกยังไม่เจอ Passion และตัวตนที่พ่อแม่ฝากความหวังไว้

“เราเจอ Passion ได้ตลอดชีวิต อย่าไปนั่งแบกมันไว้ว่า นั่นเป็นความผิดของเรา เพราะขั้นตอนการรู้จักตัวเองของมนุษย์ไม่ได้อาศัยแค่พ่อแม่ แต่อาศัยสังคม สิ่งแวดล้อม และพื้นที่เรียนรู้อื่น ๆ ด้วย”

‘ความทุกข์’ ในช่วงเวลาค้นหาตัวเองที่ปราศจากความเข้าใจและพื้นที่ทดลอง

ถึงแม้หมอโอ๋จะเน้นย้ำว่าเรามีเวลาค้นหาตัวเองทั้งชีวิต แต่ในโลกความจริง สังคมกลับเร่งให้ทุกคนต่างต้องรีบค้นหาตัวตน หรือมี Passion กับบางอย่างให้ได้นานที่สุด 

‘ระบบการศึกษา’ หนึ่งในสิ่งที่ตีกรอบให้วัยรุ่นที่อายุเลข 1 ย่างเข้าเลข 2 ต้องค้นพบตัวตนแล้ว เด็กหลายคนรู้ว่า ตัวเองสนใจหรือชื่นชอบอะไรก็คงตอบได้ไม่ยาก แต่สำหรับบางคนที่ไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วตัวเองมี Passion กับสิ่งใดเพราะพวกเขาไม่เคยมีโอกาสได้ทดลอง 

‘การเลือกคณะ’ กลายเป็นการทดลองของพวกเขา แต่การทดลองนี้ไม่ใช่การลองผิด ลองถูก แต่เป็นการทดลองที่ถูกคาดหวังให้เขาต่อยอดสิ่งนี้ไปถึงอนาคตการทำงาน

ทำไมคนเราถึงต้องมี Passion
ทำไมคนเราถึงต้องมี Passion

“ปัญหาอยู่ตั้งแต่ระบบการศึกษาที่บังคับเด็กว่าต้องเลือกและเราก็เชื่อว่าสิ่งนั้น คือ การกำหนดชีวิตเด็ก หมออยากให้พ่อแม่ปรับมุมมองใหม่ว่า บางทีการเข้าไปในมหาวิทยาลัย มันไม่เท่ากับการเข้าไปฝึกอาชีพ แต่เป็นการเข้าไปฝึกทักษะ วิชาการบางอย่าง เสร็จแล้วเราเอาสิ่งเหล่านั้นมาประกอบร่างสร้างตัวตนใหม่ได้ บางทีเราเอาอันนี้มาจากคณะที่เรียน แต่เอาอีกอย่างมาจากสิ่งที่เราชอบ มันก็ออกมาเป็นอาชีพที่ไม่ตรงกับที่เราเลือกเข้าคณะ มันจึงเป็นปัญหาของระบบการศึกษา”

“บางอาชีพที่ใฝ่ฝันมันก็เลี้ยงตัวเองไม่ได้ หลงใหลแต่ไม่มีจะกิน มันก็ทำให้เราถูกตีกรอบว่า แทนที่เราจะได้ทำสิ่งที่รัก เราก็ต้องไปทำสิ่งแค่ที่หาเงินได้ เพราะสังคมไม่เอื้อให้เราทำอาชีพที่รักแล้วมีรายได้ที่ดี” 

“สังคมเราให้คุณค่ากับอาชีพแต่ละอย่างไม่เท่ากัน หลายคนจึงตีกันไปกันมาระหว่างสิ่งเหล่านี้ คือ หากินได้ไหม ถูกยอมรับหรือเปล่า ใช่สิ่งที่เราชอบจริง ๆ ไหม เพราะแบบนั้น เด็กหลายคนจึงมีความกดดันกับความรู้สึกที่ว่า เราต้องเจอ Passion หรือเปล่า” 

ถ้าความทุกข์แรก คือ ความทุกข์จากความกดดันที่ต้องรีบค้นหาตัวเองให้เจอ ความทุกข์ต่อมา คงเป็นการแบกรับความรู้สึกผิดเมื่อรู้ว่า ตัวเองหมด Passion

การทดลองย่อมมีถูกผิด หลายคนที่ตัดสินใจเลือกสิ่งหนึ่ง เพราะสิ่งนั้นสร้างความสุขให้กับเขา แต่ในวันที่มันไม่ใช่ความสบายใจเหมือนอย่างเคย หลายคนกลับรู้สึกผิดที่ต้องเปลี่ยนความชอบ โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่กำลังตัดสินใจอยากเปลี่ยนคณะหรือรู้สึกทุกข์กับสายการเรียนที่เลือก 

“การได้รู้ว่าอะไรไม่ใช่สำหรับเรา แล้วกล้าลุกออกมาปฏิเสธ ยืนยันความต้องการของตัวเองกับสิ่งที่ใช่มากกว่า เป็นการฉลาดรู้รูปแบบหนึ่ง เหมือนการเจอคนห่วย ๆ เราก็ได้เรียนรู้ว่าในวันข้างหน้าเราจะไม่เอาแล้ว เพราะไม่เหมาะกับเราจริง ๆ มองการเลือกของตัวเองด้วยความเคารพ และให้มันเป็นการเรียนรู้

“ในวัยหนึ่งถ้าจำเป็นต้องเลือก ก็เลือกสิ่งที่คิดว่าอาจจะใช่ที่สุด แต่สิ่งนั้นอาจไม่ใช่ตัวลูกจริงๆ ในอนาคตก็ได้ เด็กหลายคนที่เรียนจบมหา’ลัยมาก็ไม่ได้ประกอบอาชีพตามที่เรียน”

ทำไมคนเราถึงต้องมี Passion
ทำไมคนเราถึงต้องมี Passion

เพราะตัวตนและความชอบในวันนี้อาจไม่ใช่สิ่งที่ใช่ที่สุดและอาจเปลี่ยนแปลงได้ ‘ความเข้าใจ’ และมองการเลือกนี้เป็น ‘พื้นที่เรียนรู้และทดลอง’ ในการค้นหาตัวตนสำหรับเด็กคนหนึ่งก็คงช่วยให้เข้าอุ่นใจได้ไม่น้อย

ถึงอย่างนั้น ในทางปฏิบัติ สิ่งนี้อาจยากที่สุด เพราะบางครั้ง การเปลี่ยนแปลงก็ไม่ใช่สิ่งที่พ่อแม่จะรับมือได้ทันที ความขัดแย้งและความคิดเห็นไม่ตรงกันจึงเกิดขึ้นได้เสมอ

“ครอบครัวที่พร้อมจะเปิดโอกาสให้ลูกได้สร้างพื้นที่สร้าง Passion ของเขาเองมีได้ไม่มากหรอก ต้องเป็นครอบครัวที่พร้อม ให้ลูกเลือกเลยว่าอยากจะทำอะไร อยากฝันอะไร แต่ครอบครัวส่วนใหญ่ในประเทศไทยไม่ใช่แบบนั้น Passion ลูกเท่ากับความไม่รอดของเราหรือภาระของเรา ต้องเก็บเงินไปเรียน หรืออาจกลายเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถช่วยคว้าได้ สิ่งเหล่านี้ก็ต้องกลับมาว่า นอกจากเราให้ความสำคัญกับอะไรและความจำเป็นมันเป็นอย่างไร”

เพราะการสนับสนุนไม่ได้ใช้แค่ความเข้าใจ ไม่ได้ใช้แค่ใจ แต่รวมถึง ‘ทุน’ สิ่งนี้จึงกลายเป็นข้อจำกัดสำหรับหลายบ้าน ดังนั้น เมื่อความจำเป็นกับ Passion ไปด้วยกันไม่ได้ ‘พื้นที่ปลอดภัย’ สำหรับเปิดใจพูดคุยระหว่างพ่อแม่กับลูกจึงเป็นเรื่องจำเป็น

“การเปิดโอกาสที่จะฟังกันและกันน่าจะเป็นกระบวนการเรียนรู้รูปแบบหนึ่ง เรายังเคารพ Passion และตัวตนของลูก เพียงแต่ว่า ณ ความจำเป็นตรงนี้มันมี solution อะไรบ้าง ไม่ได้ปิดโอกาสนั้น แต่ว่า มันหา solution ว่าทำยังไงมันถึงจะไปถึงได้ หรือถ้ามันไปไม่ถึง มันมี choice อื่นไหมที่มันจะปรับสิ่งที่มันจะเกิดขึ้นบางอย่าง”

ทำไมคนเราถึงต้องมี Passion
ทำไมคนเราถึงต้องมี Passion

หมอโอ๋แนะนำให้เราฟังอย่างง่าย ๆ ว่า สิ่งที่ควรทำหลัก ๆ คือ พ่อแม่กลับมาตั้งหลักและลองตั้งคำถามกับตัวเอง

“สิ่งที่เรากำลังคิดหรือเชื่อมันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ไหม ชีวิตและตัวของลูกเป็นชีวิตของเราไหม ความสำเร็จของลูกเท่ากับตัวตนของเราจริง ๆ ไหม เราสามารถ fulfill ตัวตนของเราด้วยสิ่งอื่นในชีวิต ลูกเป็นอีกชีวิตหนึ่ง มันไม่ใช่หน้าที่เขา การตั้งคำถามอะไรแบบนี้ก็ทำให้เรามีสติมากขึ้น”

นอกจากตามหา Passion ให้ลูก พ่อแม่ก็อย่าลืมตามหา Passion ของตัวเอง เพราะทุกคนสามารถสร้างตัวตนและมีความสุขของตัวเอง

“การลุกขึ้นมา fulfill ตัวเองแทนที่จะต้องให้ใครสักคนมาเติมเต็มความฝัน เติม self ที่ขาดหาย เราสามารถเติมตรงนี้ด้วยตัวเอง กลับมาทำสิ่งที่เรารัก กลับมาค้นว่า เรามีความสุขกับอะไร เราจะได้ไม่ต้องวิ่งหา self ของเราแล้วใส่ให้ลูก” 

สังคมก็ส่งผลต่อการจะมี Passion ของเรา

‘มายาคติและวัฒนธรรม’ ของสังคมแต่ละยุคก็ส่งผลให้พ่อแม่มีมุมมองต่อ Passion ไม่เหมือนกัน พ่อแม่บางคนเติบโตมากับความเชื่อที่ว่า Passion เป็นสิ่งที่ทำให้เราใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย และเป็นตัววัดว่าพ่อแม่เลี้ยงลูกได้ดีแค่ไหน จากการที่ลูกเจอและทำตามความฝัน

แต่หมอโอ๋ก็เห็นความเปลี่ยนแปลงของทัศนคติพ่อแม่ยุคนี้ที่เข้าใจว่า Passion เป็นองค์ประกอบหนึ่งของการค้นหาตัวเองและรู้จักตัวตนในรูปแบบหนึ่ง 

แต่ทัศนคติพ่อแม่ไม่ส่งผลเท่า ‘สังคม’ ที่ต่อให้ครอบครัวไม่ได้เคร่งว่าจะต้องเจอ Passion แต่เด็กหลายคนก็ยังดิ้นรนที่จะตามหา หมอโอ๋มองว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นจากพลวัตการเปลี่ยนแปลงของสังคม ยุคก่อนมีการให้ค่าว่า อาชีพไหนมั่นคง เช่น หมอ วิศวกร และนักบัญชี แตกต่างกับเด็กยุคนี้ที่เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกว่า แทบจะกำหนดไม่ได้ว่า อาชีพไหนที่มั่นคง 

ทำไมคนเราถึงต้องมี Passion
ทำไมคนเราถึงต้องมี Passion

ภาพความมั่นคงของอาชีพเลยเปลี่ยนไปจากความมั่นคงทางฐานะกลายเป็นความมั่นคงทางใจ อะไรที่ทำให้เราอยู่แล้วจะไม่ทุกข์กับมัน มีความสุข หลายคนมอง Passion เป็นทางออกหนึ่งที่ทำให้เขาเจอชีวิตที่มั่นคงในรูปแบบที่เป็นความมั่นคงทางใจ 

กลายเป็นมายด์เซ็ตที่ว่า มนุษย์ทุกคนต้องการความมั่งคง เมื่อความมั่นคงทางอาชีพถูกบั่นทอน เราถึงต้องหาความมั่นคงทางใจดีกว่า มันก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คำนี้มันฮิตขึ้นมา

และอีกมุมมอง คือ ‘อิคิไก (Ikigai)’ ซึ่งเป็นอีกคำที่ถูกพูดถึงมากในช่วงนี้ หมายถึง สิ่งที่ทำให้เราใช้ชีวิตอย่างมีความหมายและเรามีความสุขกับมันในทุกวัน ซึ่ง Passion ก็เป็นส่วนหนึ่งของอิคิไก การที่เราจะเจออิคิไกของเรา เราต้องเจอสิ่งที่เราถนัดและสร้างความหมายให้กับโลก หรือการเจอสิ่งที่เราหาเลี้ยงชีพได้ ส่วนหนึ่งของอิคิไกอย่าง Passion จึงกลายเป็นที่สนใจมากขึ้น

“คนในสังคมที่ให้ความสำคัญกับ Passion มาก ไม่ใช่เรื่องผิด แต่เราจะอยู่กับสิ่งนี้อย่างไรโดยไม่ทำให้มัน toxic ต่อตัวเองและคนอื่น เหมือนในยุคหนึ่งที่ถ้าอายุ 18 แล้วยังไม่มีสามี ก็กลายเป็นเหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน การมีคู่กลายเป็นสิ่งกดทับมนุษย์ว่า หากยังไม่มีสามีตอนอายุ 18 เป็นเรื่องน่าอับอาย แต่ตอนนี้อายุ 30 ไม่มีก็ไม่เป็นไร Passion เองก็คงเป็นแบบนั้น”

ทำไมคนเราถึงต้องมี Passion
ทำไมคนเราถึงต้องมี Passion

เด็กอาจเป็นตัวละครหลักในการเดินทางการค้นหาตัวเองของเขา และมีครอบครัวเป็นตัวละครที่มีบทสำคัญร่วมด้วย แต่สภาพแวดล้อมก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญไม่แพ้กัน 

“เด็กคนหนึ่งอาจจะสนใจการอ่านหนังสือจากการเข้าไปนั่งอ่านหนังสือสักเล่มในห้องสมุดใกล้บ้านที่เข้าถึงง่าย หรือเด็กคนหนึ่งที่สนุกกับการเคลื่อนไหว เขาได้เล่นในสนามเด็กเล่นในชุมชน มีสวนสาธารณะที่ทำให้เขาวิ่งได้อย่างมีความสุข ไม่ต้องกลัวว่า จะวิ่งในชุมชนแล้วเจอแต่ยาเสพติด พ่อแม่ไม่ให้ออกจากบ้าน”

ภาพเมืองจำลองนี้อาจยังเป็นเพียงแค่โครงร่าง หมอโอ๋จึงเติมรายละเอียดลงไปทำให้เราเห็นภาพของเมืองนี้ชัดเจนขึ้น 

“เมืองที่มีมายด์เซ็ตของการโอบอุ้มความฝัน ไม่ตัดสินอาชีพหรือยกอาชีพบางอย่างเหนืออาชีพอื่น ๆ สังคมแบบนี้จะช่วยโอบอุ้มให้เด็กรู้สึกว่า การที่รักและชอบอะไรในบางอย่างถูกยอมรับ ถูกมองเห็น และชื่นชมได้ไม่แตกต่างกัน ทำให้เด็กเห็นว่า ทุกอาชีพมีความหมาย ค่าตอบแทนในอาชีพต่าง ๆ ไม่เหลื่อมล้ำกันจนทำให้ สังคมแบบนี้จะทำให้เขากล้าฝัน เพราะเขารู้สึกว่าเขาจะรอดไปได้” 

ภาพเมืองจำลองของหมอโอ๋ที่จะช่วยให้เด็กคนหนึ่งเห็นว่า เขามีโอกาสที่จะได้เรียนรู้และทดลอง ก็เป็นภาพเมืองทั่วไปที่มีให้เราเห็นมากในหลายประเทศ แต่กลับไม่ใช่ภาพที่เราเห็นได้ง่าย ๆ ในสังคมไทย

ทำไมคนเราถึงต้องมี Passion
ทำไมคนเราถึงต้องมี Passion

เมืองที่ดีจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วยเช่นกัน แต่การจะมีเมืองที่ดีต้องเริ่มต้นจากผู้นำที่ดี

เข้าใจความหลากหลายและรับฟัง คือ keyword สำหรับผู้นำของหมอโอ๋ที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งกล้าที่จะไปถึงความฝัน

“ผู้นำที่เข้าใจว่า มนุษย์มีความแตกต่างหลากหลายและให้การเคารพกับความแตกต่าง ความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับศักยภาพและความสามารถ”

“ผู้นำที่รับฟังความเห็นของเด็ก ไม่ว่าเขาจะเห็นแย้งหรือเห็นต่าง เปิดพื้นที่ให้เขาได้เปล่งเสียงของความคิด ความคิดเห็นที่แตกต่าง หรือแม้กระทั่งการตั้งคำถาม ก็น่าจะเป็นสังคมที่มันสร้างความปลอดภัย” 

ความปลอดภัยไม่ใช่แค่ความปลอดภัยทางร่างกาย แต่หมายถึง ‘ความปลอดภัยทางสิทธิ เสรีภาพ และความรู้สึก’ ไม่ว่าเขาจะเป็นแบบไหน หากเขาฝันจะทำอะไรที่แปลกแยกจากสิ่งที่สังคมบอกว่าเป็นมาตรฐาน แต่สิ่งนั้นไม่ได้ทำร้ายตัวเอง คนอื่น และสังคม เขาก็ยังคงถูกโอบอุ้มและยอมรับภายใต้สังคมนี้