ท้อง8เดือนเจ็บท้องจี๊ดๆด้านซ้าย

อาการปวดท้อง หรือปวดบีบ เป็นอาการปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ในขณะตั้งครรภ์ ถึงแม้ว่าอาการเหล่านี้จะเป็นเรื่องปกติ แต่ก็อาจเป็นสัญญาณของสิ่งที่ร้ายแรงกว่าที่ควรต้องให้คุณหมอเป็นผู้วินิจฉัย

อาการปวดแบบใดบ้างที่ไม่เป็นอันตราย?
ไม่มีอะไรที่คุณแม่ต้องกังวลถ้าหากความเจ็บปวดนั้นไม่รุนแรงและหายไปได้เองเมื่อคุณแม่เปลี่ยนอิริยาบถ นอนพักผ่อน หรือผายลม อาการปวดท้องที่ไม่เป็นอันตรายซึ่งอาจปวดแบบตื้อ ๆ หรือปวดแปลบอาจเกิดจาก:

  • อาการปวดเส้นเอ็น เกิดขึ้นเมื่อเส้นเอ็นยืดออกเพื่อรองรับหน้าท้องของคุณแม่ที่กำลังโตขึ้น ซึ่งอาจทำให้รู้สึกเหมือนเป็นตะคริว เจ็บ เสียดที่ด้านหนึ่งของหน้าท้องส่วนล่าง
  • ท้องผูก
  • มีแก๊สในท้องมากกว่าปกติ

อาการที่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ทันทีมีอะไรบ้าง?
คุณแม่ควรไปพบคุณหมอที่โรงพยาบาลทันทีหากมีอาการปวดท้องพร้อมกับอาการดังต่อไปนี้:

  • มีเลือดออก
  • ปวดบีบเกร็งเป็นประจำ
  • มีตกขาวผิดปกติ
  • ปวดหลังส่วนล่าง
  • ปวดหรือแสบขณะปัสสาวะ
  • อาการปวดนั้นรุนแรง หรือไม่หายไปหลังจากที่คุณแม่พักเป็นเวลา 30 ถึง 60 นาทีแล้ว

ภาวะที่อาจทำให้เกิดอาการปวดท้องและจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยอย่างเร่งด่วนได้แก่:

  • การตั้งครรภ์นอกมดลูก: คือภาวะที่ไข่ได้รับการปฏิสนธิและมีการฝังตัวนอกมดลูก อาจมีอาการปวดท้อง รวมถึงปวดที่หัวไหล่ และรู้สึกไม่สบายขณะปัสสาวะและอุจจาระ มักจะปรากฏอาการขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 4 – 12 ของการตั้งครรภ์
  • การแท้งบุตร: มีอาการปวดบีบและมีเลือดออกก่อนสัปดาห์ที่ 24 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการแท้งบุตรได้
  • ภาวะครรภ์เป็นพิษ: อาการปวดใต้ซี่โครงนั้นสามารถพบได้บ่อยในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ เนื่องจากทารกในครรภ์โตขึ้น และมดลูกดันขึ้นไปบริเวณใต้ซี่โครง แต่หากมีอาการเจ็บปวดเป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านขวา ก็อาจเป็นสัญญาณของภาวะครรภ์เป็นพิษได้ (คือมีความดันโลหิตสูงในการตั้งครรภ์) และคุณแม่จะต้องได้รับการตรวจในโรงพยาบาล อาจมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง มีปัญหาในการมองเห็น และมีอาการบวมที่เท้า มือ และใบหน้าร่วมด้วย
  • คลอดก่อนกำหนด: หากคุณแม่ตั้งครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ และมีอาการปวดท้องเป็นประจำ ควรปรึกษาคุณหมอ เพราะนี่อาจจะเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการคลอดก่อนกำหนด
  • ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด: ภาวะที่รกเริ่มหลุดออกจากผนังมดลูก ซึ่งมักจะทำให้มีเลือดออก และปวดท้องอย่างรุนแรงต่อเนื่อง ซึ่งไม่เหมือนกับอาการเจ็บครรภ์ทั่ว ๆ ไป และอาจเป็นเหตุฉุกเฉิน เพราะหมายความว่ารกอาจไม่สามารถทำหน้าที่ส่งอาหารและอากาศให้ทารกในครรภ์ได้อย่างสมบูรณ์
  • การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (UTI): การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะเป็นเรื่องปกติสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ และสามารถรักษาได้ง่าย โรคนี้อาจทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อย และบางครั้งก็รู้สึก เจ็บหรือแสบในขณะปัสสาวะ

รับรองโดย:

พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (30 พฤษภาคม 2019)

ที่มา:

เมื่อเข้าสู่การตั้งครรภ์ในเดือนที่ 8 หรือเรียกง่ายๆ ว่า ท้อง 8 เดือน ช่วงนี้จะเป็นช่วงหนึ่งซึ่งเกิดความตื่นเต้น จนถึงเกิดอาการวิตก ! ได้บ่อยครั้ง โดยเฉพาะกับคุณแม่ หรือครอบครัวที่พึ่งมีท้องครั้งแรก เนื่องจากร่างกายคุณแม่จะมีอาการต่างๆ นานา ที่ชวนให้คิดว่าจะมีการคลอดเกิดขึ้น ซึ่งส่วนมากก็เป็นอาการที่เราเรียกกันว่าการเจ็บเตือน แต่อย่างไรก็ตาม มีบ้างเหมือนกันที่คลอดทารกออกมาในช่วงเดือนที่ 8 นี้

อาการที่ทำให้คุณแม่เริ่มกังวลว่าจะเป็นสัญญาณในการจะคลอดก่อนครบกำหนด 9 เดือน หรือไม่ ก็คือ อาการปวดหน่วงๆ ที่ท้อง จริงอยู่ว่าอาการนี้ไม่น่าวิตกเท่าการปวดแบบมดลูกเกิดการบีบรัดหดตัว แต่ก็เป็นอาการที่ทำให้คุณแม่มือใหม่หลายๆ คนเกิดความกังวลได้ ว่านี่เป็นสัญญาณก่อนการคลอด ทีนี้พอหลังจากปวดหน่วงบ่อยๆ เข้า พอ เกิดเจ็บท้องแบบมดลูกบีบตัว หรือมีอาการท้องเกร็งแข็งก็อาจจะมีบางคนบางบ้าน ที่หอบหิ้วกันไปยังโรงพยาบาล เพราะกังวลว่าจะเกิดการคลอดก่อนกำหนดขึ้นมา (ผู้เขียนก็เคยประสบเหตุการณ์นี้มาเช่นกัน !ในตอนมีลูกคนแรก)

จริงๆ แล้วอาการปวดหน่วงนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ที่พบมากและเป็นอาการหน่วงแบบเบาๆ แต่ต่อเนื่องก็คือ อาการปวดหน่วงที่เกิดจากการหย่อนตัวของข้อต่อบริเวณเชิงกราน ซึ่งการหย่อยนี้เกิดขึ้นเนื่องจากการที่ร่างกายเตรียมความพร้อมในการคลอดลูก ที่เชิงกรานจะต้องรับการขยายตัวเพื่อให้ทารกคลอดผ่านออกมาได้ง่าย เป็นกระบวนการตามธรรมชาติ และอาจจะมีอาการมากหน่อยในช่วงที่คุณแม่เปลี่ยนท่าจากท่าหนึ่งไปยังอีกท่าหนึ่งเมื่ออยู่ในอิริยาบถเดิมนานๆ เช่น นั่งอยู่แล้วลุกขึ้น ก็จะเกิดอาการปวดหน่วงๆ เหมือนจะมีอะไรเคลื่อนลง นั่นทำให้เกิดความวิตกได้ว่าเป็นอาการของคนที่กำลังจะคลอด และยิ่งในช่วงเดือนนี้อาการท้องแข็ง หรืออาการบีบตัวของมดลูกที่เป็นการเจ็บเตือนมีบ่อย ก็เลยทำให้กังวล ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาโดยเฉพาะท้องแรกที่วิตกมากหน่อยเนื่องจากยังไม่มีประสบการณ์

ท้อง8เดือนปวดหน่วงส่วนมากจะไม่ใช่อาการเตือนว่าจะคลอด แต่เป็นการเตรียมความพร้อม แต่อย่างไรก็ดีคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตอาการของตนเองอย่างต่อเนื่อง และไปพบแพทย์เป็นประจำ ซึ่งในช่วงนี้แพทย์อาจจะนัดบ่อยหน่อย เพราะใกล้คลอดแล้ว และเป็นช่วงที่มีอาการ ครรภ์เป็นพิษเกิดขึ้นได้ง่าย ดังนั้นก็ขอให้วางใจ ไปพบแพทย์ตามเวลาก็จะทราบถึงพัฒนาการและช่วงเวลาคลอดที่ควรจะเป็นตามธรรมชาติ แต่ก็ขอให้เตรียมตัวให้พร้อมในการเดินทางไปคลอดไว้ให้พร้อมได้แล้ว เวลาคลอดจริงๆ จะได้ไม่วุ่นวายขาดนั่นขาดนี่

หญิงที่ตั้งครรภ์ในเดือนที่ 8-9 มักจะมีอาการมดลูกหดเกร็ง ทำให้มีอาการปวดบ้างเล็กน้อยซึ่งเป็นการเจ็บเตือน และจะมีอาการมากขึ้นเรื่อยๆ จนใกล้จะคลอด โดยจะมีอาการต่างๆ คอยเตือนว่าเป็นการเจ็บเตือนหรือเจ็บท้องจะคลอดจริงๆ คุณแม่มือใหม่หลายคนอาจจะสับสนว่าเจ็บแบบไหนเจ็บเตือนแบบไหนเป็นการเจ็บท้องคลอดจริง ทำให้เกิดความวิตกกังวล ดังนั้นคุณแม่มือใหม่ทั้งหลายควรเรียนรู้ถึงอาการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นเพื่อจะได้ตัดสินใจถูกต้อง

อาการเตือนก่อนคลอด เป็นอย่างไร
อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นในเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์และนำไปสู่อาการเตือน ก่อนคลอด อาการเหล่านี้จะใช้เวลาเป็นสัปดาห์หรือไม่กี่ชั่วโมงก่อนคลอดจริง ได้แก่

•อาการท้องลดและการเคลื่อนต่ำของส่วนนำเข้าสู่อุ้งเชิงกราน เกิดขึ้นประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ก่อนคลอด ทารกในครรภ์จะเคลื่อนตัวลงสู่อุ้งเชิงกราน ทำให้ความสูงของยอดมดลูกลดลงเล็กน้อย อาการนี้เป็นอาการแรกของการเข้าสู่ระยะการคลอด

•ปวดท้องน้อยและทวารหนัก จะรู้สึกเหมือนมีอะไรกดทับบริเวณขาหนีบ และปวดหลังส่วนล่างตลอดเวลา

•น้ำหนักตัวคงที่หรือลดลงเล็กน้อย โดยปกติหญิงตั้งครรภ์จะมีน้ำหนักตัวเเพิ่มขึ้นเฉลี่ยสัปดาห์ละครึ่งกิโลกรัม แต่ในระยะใกล้คลอดสามารถลดลงถึง 1 กิโลกรัม

•รู้สึกเหมือนหมดแรง ลื่นล้มง่าย ชอบอยู่นิ่งๆ เพื่อเตรียมพลังเพื่อเลี้ยงลูก

•มูกในช่องคลอดเหนียวและข้นมากขึ้น

•มูกที่อุดปากมดลูกหลุด แต่อาจอยู่ในช่องคลอดโดยจะขับออกมาเมื่อน้ำเดินหรือเจ็บครรภ์จริง ใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์หลังจากหลุดจากปากมดลูก

•มีมูกเลือดปน เนื่องจากการเปิดของปากมดลูกจะมีการฉีกขาดของเยื่อบุและหลอดเลือดฝอยบริเวณ นั้น ทำให้มีเลือดปนออกมา หากมีอาการนี้เกิดขึ้นแสดงว่าจะมีการคลอดเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง แต่บางรายอาจจะเลื่อนออกไปได้อีกหลายวัน

•การหดรัดตัวของมดลูกจะแรงและบ่อยขึ้น จนทำให้เกิดอาการเจ็บปวด

•ท้องเสีย เนื่องจากลำไส้ส่วนล่างถูกรบกวน

อาการเจ็บเตือน เป็นอย่างไร
•จะเกิดขึ้นแบบไม่สม่ำเสมอ ส่วนความแรงของการหดรัดตัวจะคงที่ ไม่เจ็บเพิ่มขึ้น

•จะเจ็บบริเวณท้องน้อย ไม่ปวดร้าวไปด้านหลัง

•อาการเจ็บจะดีขึ้นเมื่อเดินรอบหรือเปลี่ยนอิริยาบถ

•ลักษณะมูกจะออกเป็นเลือดเก่าคือสีจะเข้ม ไม่เป็นสีชมพูสด หรือแดงสด

•การดิ้นของทารกจะแรงขึ้น

อาการเจ็บท้องคลอดจริง เป็นอย่างไร
•อาการแข็งตัวของมดลูกเพิ่มขึ้น เจ็บนานขึ้นและถี่ขึ้น แม้ว่าจะเปลี่ยนอิริยาบถ หรือนอนพักอาการปวดก็ไม่ดีขึ้น

•อาการเจ็บจะเริ่มที่หลังแล้วปวดร้าวมาถึงด้านหน้าบริเวณหัวหน่าวและท้อง น้อย บางครั้งจะปวดร้าวลงขา และอาจมีอาการปวดท้องอยากถ่ายอุจจาระและถ่ายบ่อย

•มีมูกเลือดปนออกมาเป็นเลือดสด สีจะแดงสด

•มีถุงน้ำแตก

จะรู้ได้อย่างไรว่า ได้เวลาไปโรงพยาบาลแล้ว
•เมื่อเริ่มมีอาการเจ็บครรภ์จริง โดยอาการเจ็บนั้นจะอยู่นานตลอดชั่วโมง และเจ็บปวดมากขึ้นเรื่อยๆ ประมาณ 1 นาทีต่อครั้ง

•กรณีที่เจ็บครรภ์น้อยๆ อาจจะพักอยู่กับบ้าน 4-8 ชั่วโมง เพื่อให้แน่ใจว่าเจ็บครรภ์จริง จึงเตรียมตัวไปโรงพยาบาล อย่ากลัวว่าถ้าไม่เจ็บท้องคลอดจริงแล้วไปโรงพยาบาลจะโดนทางโรงพยาบาลต่อว่าใดๆ