ถอดคําประพันธ์ลิลิตตะเลงพ่าย ตอนที่3

เพื่อน ๆ ที่เคยดูภาพยนตร์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวร คงสนุกกับคิวบู๊และฉากอันยิ่งใหญ่ไม่น้อย แต่เพื่อน ๆ รู้หรือไม่ ว่าเราสามารถอ่านเรื่องนี้ในหนังสือเรียนภาษาไทยระดับชั้น ม.๕ ของเราได้ เพียงแต่ว่าชื่อของบทเรียนนั้นไม่ใช่ตำนวนสมเด็จพระนเรศวร แต่คือ “ลิลิตตะเลงพ่าย” ต่างหาก วันนี้ StartDee จะพาทุกคนไปรู้จักบทเรียนเรื่องนี้ พร้อมรายละเอียดเกี่ยวกับผู้แต่ง ที่มา ตัวละครสำคัญ และยังถอดคำประพันธ์เรื่องลิลิตตะเลงพ่ายให้ได้อ่านกันแบบจุก ๆ นอกจากสนุกแล้วยังเอาไปทำข้อสอบได้ด้วยนะ

ส่วนใครที่อ่านแล้วยังไม่จุใจ สามารถดูแบบวิดีโอได้ที่แอปฯ StartDee ดาวน์โหลดกันเลยนะ

ถอดคําประพันธ์ลิลิตตะเลงพ่าย ตอนที่3

ผู้แต่ง

ลิลิตตะเลงพ่ายเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส พระองค์เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑) กับเจ้าจอมมารดาจุ้ย โดยนิพนธ์เรื่องลิลิตตะเลงพ่ายในขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนุชิตชิโนรสฯ ทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญในหลายด้าน ทั้งคดีโลก คดีธรรม และอักษรศาสตร์ พระองค์ทรงอยู่ในสมณเพศยาวนานถึง ๕๒ พรรษา โดยสิ้นพระชมน์ในแผ่นดินรัชกาลที่ ๔ สิริรวมพระชนมายุได้ ๖๔ พรรษา 

 

ที่มาและความสำคัญ

ลิลิตตะเลงพ่ายแต่งขึ้นเพื่อ “ยอพระเกียรติยศ” ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยเล่าเรื่องราวตั้งแต่สมเด็จพระมหาธรรมราชา (พระราชบิดาในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช) สวรรคตจนถึงเสร็จสิ้นสงครามยุทธหัตถี สันนิษฐานว่านำข้อมูลพื้นฐานมาจากบันทึกพระราชพงศาวดาร ฉบับ พันจันธุมาศ (เจิม) โดยผู้แต่งเพิ่มจินตนาการของตนเองเข้าไปด้วยเพื่อทำให้เนื้อหาน่าติดตาม โดยเฉพาะบทอาลัยของพระมหาอุปราชา

การแต่งลิลิตตะเลงพ่ายนั้นใช้ขนบการแต่งแบบโบราณเช่นเดียวกับลิลิตยวนพ่าย ซึ่งสันนิษฐานว่าถูกแต่งขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒

 

ตัวละคร

แบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายคือฝ่ายกรุงศรีอยุธยา และฝ่ายหงสาวดี

ฝ่ายกรุงศรีอยุธยา
  • สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๒) เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๑) แห่งราชวงศ์สุโขทัย กับพระวิสุทธิกษัตรีย์
  • สมเด็จพระเอกาทศรถ (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๓) พระอนุชาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
  • พระศรีไสยณรงค์ แม่ทัพหน้า
  • พระราชฤทธานนท์ ปลัดทัพ
  • หมื่นทิพเสนา ผู้สืบข่าวทัพหน้าของไทย
  • หลวงมหาวิชัย ผู้รับพระราชทานพระแสงอาญาสิทธิ์ในพิธีตัดไม้ข่มนาม
  • หลวงญานโยคโลกทีป โหรประจำกองทัพ ผู้ให้ฤกษ์ในการเดินทาง
  • เจ้าพระยาจักรี ผู้ที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้รักษากรุงศรีอยุธยา และเป็นผู้ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษจากการตามเสด็จไม่ทัน โดยต้องไปตีเมืองทวายเป็นการแก้ตัว
  • เจ้าพระยาพระคลัง ผู้ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษจากการตามเสด็จไม่ทัน โดยต้องไปตีเมืองทวายเป็นการแก้ตัว
  • เจ้าพระยาไชยานุภาพ ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
  • เจ้ารามราฆพ กลางช้างของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
  • นายมหานุภาพ ท้ายช้างของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสียชีวิตในสนามรบ
  • พระยาปราบไตรจักร ช้างทรงของพระเอกาทศรถ
  • หมื่นภักดีศวร กลางช้างของสมเด็จพระเอกาทศรถ ตายในสนามรบ
  • ขุนศรีคชคง ท้ายช้างของสมเด็จพระเอกาทศรถ
  • สมเด็จพระวันรัต ผู้ที่ทูลของให้สมเด้จพระนเรศวร พระราชทานอภัยโทษแก่แม่ทัพนายกอง
  • ขุนแผน นายด่านผู้นำผู้นำใบบอกจากหัวเมืองเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา

ถอดคําประพันธ์ลิลิตตะเลงพ่าย ตอนที่3

ตัวละครฝ่ายกรุงศรีอยุธยา จากภาพยนตร์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวร

(ขอบคุณรูปภาพจาก https://www.thairath.co.th/content/156103)

ฝ่ายหงสาวดี
  • พระเจ้านันทบุเรง แห่งราชวงศ์ตองอู
  • พระมหาอุปราชามังกะยอชวา เป็นพระราชโอรสองค์โตในพระเจ้านันทบุเรง
  • พระเจ้ามังนรธาช่อ เจ้าเมืองเชียงใหม่ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๒ ในพระเจ้านันทบุเรง
  • มางจาชโร พี่เลี้ยงของพระมหาอุปราชา ถูกสมเด็จพระเอกาทศรถฟังเสียชีวิตบนหลังช้าง
  • พระยาจิตตอง แม่ทัพหน้า ทำสะพานไม้ไผ่ข้ามแม่น้ำลำกระเพิน
  • สมิงอะคร้าน นายกองลาดตระเวน
  • สมิงเป่อ นายกองลาดตระเวน
  • สมิงชายม่วน นายกองลาดตระเวน
  • พลายพัทธกอ ช้างทรงของพระมหาอุปราชามังกะยอชวา
  • สมิงนันทมาง กลางช้างของพระมหาอุปราชามังกะยอชวา
  • เจ้าเมืองมล่วน ควาญช้างของพระมหาอุปราชา เป็นผู้นำความเรื่องพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนไปทูลพระเจ้าหงสาวดี
  • พลายพัชเนียง ช้างของมางจาชโร
  • สมิงปราบศึก กลางช้างของมางจาชโร
  • สมิงมือเหล็ก ควาญช้างของมางจาชโร

ถอดคําประพันธ์ลิลิตตะเลงพ่าย ตอนที่3

ตัวละครผ่ายหงสาวดี จากภาพยนตร์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวร 

(ขอบคุณรูปภาพจาก https://www.sanook.com/movie/18867/gallery/56783/)

ถอดคำประพันธ์ลิลิตตะเลงพ่ายช่วงที่ ๑ เมื่อหงสาวดีคิดการสงครามต่อกรุงศรีอยุธยา

เมื่อพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงทราบข่าวว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาสวรรคต และสมเด็จพระนเรศวรได้ครองราชสมบัติ พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงจึงปรึกษาขุนนางทั้งหลายว่า กรุงศรีอยุธยาอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงกษัตริย์ สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถพี่น้องอาจชิงความเป็นใหญ่ ควรส่งทัพไปตีกรุงศรีอยุธยาขุนนางทั้งหลายก็เห็นชอบตามพระราชดำรินั้น พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงจึงตรัสแก่พระมหาอุปราชาให้เตรียมทัพร่วมกับเจ้านครเชียงใหม่เป็นทัพใหญ่ ๕ แสน พระมหาอุปราชากราบทูลพระราชบิดาว่าโหรทำนายว่าตนมีเคราะห์อาจถึงตาย พระเจ้าหงสาวดีจึงได้ตรัสประชดว่า 

 

“...พระมหาธรรมราชาไม่เสียแรงมีโอรสล้วนเชี่ยวชาญการศึก ไม่เคยย่อท้อต่อสงคราม ไม่เคยพักหรือต้องให้พระราชบิดาใช้ กลับต้องห้ามให้พักการรบเสียอีก และถ้าเจ้ากลัวเคราะห์ร้าย ก็อย่าไปรบเสียเลย เอาผ้าสตรีมานุ่งเสียจะได้สร่างเคราะห์...” 

 

พระมหาอุปราชาได้ฟังก็อับอายยิ่งนักแต่ก็ไม่อาจขัดคำสั่งได้ จึงเตรียมรี้พล และมีคำสั่งไปถึงเมืองเชียงใหม่ให้จัดทัพทั้ง ๔ เหล่า ยกมาหงสาวดี นอกจากนี้ยังรับสั่งให้หัวเมืองต่าง ๆ มาช่วยรบ เมื่อทัพต่าง ๆ มาถึงหงสาวดีก็จัดเตรียมทัพหลวงเช่นกัน จนเช้าตรู่วันรุ่งขึ้น พระมหาอุปราชาได้เสด็จเข้าตำหนักด้วยความโศกเศร้า แล้วสั่งลาสนมเพื่อไปทำศึก จากนั้นจึงตรัสปลอบพระสนมว่า พระองค์จำต้องจากไป ขออย่าให้นางโศกเศร้าคร่ำครวญเลย เมื่อเสร็จการศึกแล้วจะรีบกลับ ดังข้อความในโคลงสี่สุภาพที่ว่า

 

จำใจจำจากเจ้า      จำจร

จำนิราศแรมสมร              แม่ร้าง

เพราะเพื่อจักไปรอน         อริราช แลแม่

จำทุกข์จำเทวษว้าง          สวาทว้าหวั่นถวิล ฯ

พอพระสนมได้ฟังรับสั่งต่างพากันร่ำไห้และขอตามเสด็จไปด้วย เป็นเหตุให้พระมหาอุปราชาเร่าร้อนพระทัยยิ่งขึ้น และคิดที่จะขัดพระบรมราชโองการของพระราชบิดา แต่ด้วยความกลัวพระอาญาจึงฝืนความโศกเศร้า ซึ่งกว่าจะปลอบพระสนมเสร็จก็เป็นเวลาใกล้รุ่งพอดี

 

พระมหาอุปราชาเข้าเฝ้าพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงเพื่อทูลลาไปทำศึก พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงจึงพระราชทานพรให้มีชัยชนะแก่กรุงศรีอยุธยา แล้วพระราชทานโอวาท ๘ ประการ คือ

๑. จงพ่ออย่ายินยล แต่ตื้น

อย่าลองคะนองตน   ตามชอบ  ใจนา

หมายถึง อย่าประมาท

๒. จงแจ้งเหตุแห่งเบื้อง โบราณ

เป็นประโยชน์ยุทธการ กล่าวไว้           

หมายถึง รู้คดี/คำสอนของคนโบราณ

๓. เอาใจทหารหาญ  เริงรื่น อยู่นา   

หมายถึง รู้ปลุกใจทหาร

๔.  อย่าระคนปนใกล้      เกลือกกลั้วขลาดเขลา

หมายถึง อย่าอยู่ใกล้คนโง่

๕.  หนึ่งรู้พยุหเศิกไซร้     สบสถาน           

หมายถึง รู้กระบวนทัพข้าศึก

๖.  รู้เชิงพิชัยชาญ ชุมค่าย ควรนา   

หมายถึง รู้วิธีตั้งค่าย

๗. หนึ่งรู้บำเหน็จให้       ขุนพล              

หมายถึง รู้ปูนบำเหน็จทหาร

๘. อย่าหย่อนพิริยะยล   อย่างเกียจ          

หมายถึง มีความเพียร

เมื่อได้รับพรและพระบรมราโชวาทจากพระเจ้านันทบุเรงแล้วก็ทูลลา พระมหาอุปราชาเสด็จทรงช้างชื่อ “พลายพัทธกอ” เคลื่อนกองทัพ ๕ แสน พร้อมด้วยทัพช้าง ม้า พลเดินเท้า พาหนะต่าง ๆ เกวียน และอาวุธต่าง ๆ ผ่านโขลนทวาร

 

พระมหาอุปราชานำทัพผ่านป่าเขามาอย่างช้าๆ เดินทางเฉพาะเวลาเช้าและเวลาเย็น กลางวันร้อนก็หยุดพักผ่อน เพื่อให้รี้พล ช้าง ม้า ร่าเริง และกล้าหาญ เมืองและตำบลที่ทัพของพระมหาอุปราชาผ่านเรียงลำดับ ดังนี้

๑. เมืองหงสาวดี

๒. ด่านพระเจดีย์สามองค์ ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี  เจดีย์องค์หนึ่งอยู่ในเขตมอญ  อีกสององค์อยู่ในเขตไทย เดิมเป็นเพียงก้อนหินรูปเจดีย์ เพิ่งสร้างเป็นเจดีย์จริงในสมัยรัชกาลที่ ๕  นักวิชาการบางท่านบ้างก็ว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวร

พอพระมหาอุปราชายกทัพถึงด่านเจดีย์สามองค์  เริ่มเข้าเขตไทย ได้ทรงรำพันถึงนางอันเป็นที่รัก ระหว่างการเดินทางพบธรรมชาติที่สวยงาม พระองค์ได้คร่ำครวญอยู่ตลอดเวลา

สลัดไดใดสลัดน้อง            แหนงนอน  ไพรฤๅ

เพราะเพื่อมาราญรอน                  เศิกไสร้

สละสละสมร เสมอชื่อ                 ไม้นา

นึกระกำนามไม้                           แม่นแม้นทรวงเรียม

แปลได้ว่า ต้นสลัดไดเหมือนมีสิ่งใดมาพรากน้องไปจนต้องมานอนคนเดียวกลางป่า ต้นสละเหมือนสละนางสนมมา ส่วนต้นระกำเหมือนความระกำในอกของพระองค์

๓. ตำบลไทรโยค รับสั่งให้ตั้งค่าย ทรงปรึกษาแผนการที่จะเข้าตีเมืองกาญจนบุรี แล้วเคลื่อนทัพไปตามแผนการ

ฝ่ายกองระวังด่านที่เจ้าเมืองกาญจนบุรีจัดไปสืบเหตุการณ์ในเขตมอญเห็นพม่าเดินเลาะทางลำน้ำแม่กษัตริย์ ประกอบด้วยรี้พลมากมาย แลเห็นฉัตร ๕ ชั้น ก็ทราบว่าเป็นพระมหาอุปราชายกทัพมา จึงรีบกลับมารายงานแก่เจ้าเมืองกาญจนบุรี ทุกคนในกาญจนบุรีกลัวจึงพากันหนีเข้าป่า ลอบดูท่าทีของข้าศึก เห็นทัพของพม่าเคลื่อนมาทางแม่น้ำลำกระเพิน

๔. ลำน้ำกระเพิน พระยาจิตตองคุมพลสร้างสะพานเรือกไม้ไผ่ข้ามลำน้ำ เจ้าเมืองกาญจนบุรีให้ขุนแผนนำม้าเร็วไปรายงานแก่สมุหนายกเสนาบดีฝ่ายมหาดไทย เพื่อกราบทูลสมเด็จพระนเรศวร

๕. เมืองกาญจนบุรี  พระมหาอุปราชาเข้ายึดเมืองได้อย่างง่ายดายเพราะไม่มีชาวเมืองแม้แต่ผู้เดียวจนกลายเป็นเมืองร้าง ประทับแรมหนึ่งคืน พระมหาอุปราชาเคลื่อนรี้พลจากเมืองกาญจนบุรี ถึงพนมทวนในเย็นวันนั้น เกิดลมเวรัมภาพัดฉัตรหัก ดังโคลงตอนที่ว่า

เกิดเป็นหมอกมืดห้อง          เวหา  หนเฮย

ลมชื่อเวรัมภา                              พัดคลุ้ม

หวนหอบหักฉัตรา                        คชขาด ลงแฮ

แลธุลีกลัดกลุ้ม                            เกลื่อนเพี้ยงจักรผัน ฯ

โหรแสร้งทำนายว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ถ้าเกิดในช่วงเช้าจะไม่ดี แต่ถ้าเกิดในช่วงเย็นจะเป็นศุภนิมิตได้ชัยชนะแก่ข้าศึก

พระมหาอุปราชาไม่เชื่อคำทำนายของโหร ทรงหวั่นพระทัยว่าจะต้องแพ้ข้าศึก และระลึกถึงพระบิดา ถ้าหากสิ้นพระชนม์ พระบิดาจะต้องโศกแน่นอน เพราะไม่มีใครช่วยทำสงคราม แผ่นดินมอญจะต้องพินาศลง

๖. ตำบลตระพังตรุ เขตจังหวัดกาญจนบุรี ทรงตั้งทัพเป็นแบบดาวล้อมเดือน

๗. ตำบลโคกเผาข้าว เขตจังหวัดสุพรรณบุรี ได้ปะทะกับทหารกรุงศรีอยุธยาเวลา ๐๗.๐๐ น. 

ถอดคําประพันธ์ลิลิตตะเลงพ่าย ตอนที่3

ถอดคำประพันธ์ลิลิตตะเลงพ่ายช่วงที่ ๒ พระนเรศวรเตรียมรับศึกหงสาวดี

 

ในขณะที่สมเด็จพระนเรศวรทรงปรึกษาการศึกกับขุนนางเพื่อเตรียมกองทัพไปรบกับเขมร และเตรียมการป้องกันกรุงศรีอยุธยาโดยให้พระยาจักรีเป็นผู้ดูแลอยู่นั้น ทรงได้ข่าวศึกว่าพม่าเดินทางเข้ามาทางเมืองกาญจนบุรี จึงเห็นควรให้ยกทัพไปต่อสู้เพื่อชิงชัยชนะ 

 

สมเด็จพระนเรศวรทรงให้เจ้าเมืองราชบุรีเกณฑ์พล ๕๐๐ คนไปตั้งซุ่มอยู่ ถ้าข้าศึกข้ามสะพานลำน้ำกระเพินแล้วให้ตัดสะพานเรือกและเอาไฟทำลายเสีย เมื่อรับสั่งไม่นานก็มีการแจ้งข่าวศึกเพิ่มเติมจากเมืองสิงห์บุรี  สรรคบุรี  สุพรรณบุรีและวิเศษไชยชาญตามลำดับ

 

สมเด็จพระนเรศวรและพระเอกาทศรถปรึกษาการศึกกับขุนนางผู้ใหญ่ว่าควรจะรบนอกเมืองหรือตั้งรับอยู่ในเมืองดี ขุนนางกราบทูลให้ออกไปรบนอกเมือง ซึ่งพระองค์ก็เห็นว่าเป็นความคิดที่ตรงกันกับพระองค์ จากนั้นจึงมีพระบรมราชโองการให้ทัพหัวเมืองตรี จัตวา และปักษ์ใต้ รวมทั้งหมด ๒๓ หัวเมือง รวมพลจำนวน ๕ หมื่นคนเพื่อเป็นทัพหน้า โดยให้พระยาศรีไสยณรงค์ เป็นแม่ทัพ พระราชฤทธานนท์ เป็นปลัดทัพ ยกไปขัดตาทัพรับหน้าข้าศึกอยู่ที่ตำบลหนองสาหร่าย  หากตีข้าศึกไม่แตกและต้านทานไม่ไหว พระองค์จะเสด็จไปช่วยรบทีหลัง แม่ทัพทั้งสองจึงกราบบังคมลาไปตั้งค่ายตรงชัยภูมิสีหนามที่หนองสาหร่ายตามพระราชบัญชา

 

เส้นทางการเดินทัพของสมเด็จพระนเรศวร มีดังนี้

๑. กรุงศรีอยุธยา

๒. ปากโมก : ทรงสุบินเป็นมงคลนิมิต

๓. บ้านสระแก้ว

๔. บ้านสระเหล้า

๕. หนองสาหร่าย : ตั้งค่ายรูปดอกบัว ตรงชัยภูมิครุฑนาม

 

สมเด็จพระนเรศวรทรงให้โหรหาฤกษ์ ซึ่งพระโหราธิบดี หลวงญาณโยคและหลวงโลกทีป คำนวณฤกษ์ถวายว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้จตุรงคโชค สามารถปราบข้าศึกให้แพ้ไปได้ ขอเชิญเสด็จยกทัพออกจากพระนคร ณ วันอาทิตย์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือนยี่ เวลา ๘.๓๐ น. เมื่อได้มงคลฤกษ์ สมเด็จพระนเรศวรก็ยกทัพผ่านโขลนทวาร และพระสงฆ์ประพรมน้ำมนต์แก่กองทัพ 

 

สมเด็จพระนเรศวรเสด็จทางชลมารคไปประทับแรมอยู่ที่ตำบลปากโมก (ปัจจุบันคือ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง) เมื่อถึงปากโมกได้ทรงปรึกษาการศึกกับขุนนางจนยามที่สามจึงเข้าบรรทม ครั้นเวลา ๔ นาฬิกา พระองค์สุบินเป็นศุภนิมิต มีเรื่องราวว่า พระองค์ทอดพระเนตรน้ำไหลบ่าท่วมป่าสูงทางทิศตะวันตกเป็นแนวยาวสุดสายตา ขณะที่พระองค์ทรงลุยน้ำอันเชี่ยวนั้นก็มีจระเข้ใหญ่ตัวหนึ่งโถมปะทะและจะกัดพระองค์ จึงต่อสู้กัน พระองค์ทรงใช้พระแสงดาบฟันจนจระเข้ตาย ทันใดนั้นสายน้ำก็เหือดแห้งไป

 

พอตื่นบรรทมก็ทรงรับสั่งให้โหรทำนายพระสุบินทันที โหรทำนายว่า พระสุบินครั้งนี้เกิดเพราะเทวดาสังหรณ์ให้ทราบเป็นนัย น้ำที่ไหลบ่าทางทิศตะวันตกคือกองทัพพม่า จระเข้ใหญ่คือพระมหาอุปราชา การที่พระองค์เอาชนะจระเข้ได้แสดงว่าศัตรูพระองค์จะสิ้นชีวิตลงด้วยพระแสงของ้าวและที่พระองค์ลุยกระแสน้ำ หมายความว่า พระองค์ทรงบุกเข้าไปในหมู่ข้าศึกจนข้าศึกแตกพ่ายไม่อาจทนต่อพระบรมเดชานุภาพได้

 

พอใกล้ฤกษ์ยกทัพ สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถ เสด็จไปยังเกยช้างทรงพระที่นั่งคอยพิชัยฤกษ์อยู่ ทันใดนั้นพระองค์ทอดพระเนตรพระบรมสารีริกธาตุส่องแสงเรืองงามขนาดเท่าผลส้มเกลี้ยงลอยมาในท้องฟ้าทางด้านทิศใต้ หมุนเวียนรอบกองทัพทักษิณาวรรต ๓ รอบ แล้วลอยวนเวียนไปทางทิศเหนือ สมเด็จพระพี่น้องทั้งสองพระองค์ปีติยินดีตื้นตันพระทัย ทรงสรรเสริญและนมัสการอธิษฐานให้พระบรมสารีริกธาตุนั้นบันดาลให้พระองค์ชนะข้าศึก และขอเชิญเป็นธงและเป็นฉัตรไปปกป้องเพื่อระงับความเดือดร้อนนำแต่ความสะดวกสบายมาสู่กองทัพ จากตำบลปากโมก สมเด็จพระนเรศวรทรงช้างชื่อ “เจ้าพระยาไชยานุภาพ” สมเด็จพระเอกาทศรถทรงช้างชื่อ “เจ้าพระยาปราบไตรจักร” ทรงเคลื่อนทัพไปตั้ง ณ หนองสาหร่าย

 

  • พระมหาอุปราชาทรงปรึกษาการศึกแล้วยกทัพปะทะทัพหน้าของไทย

นายกองลาดตระเวนพม่า สมิงอะคร้าน สมิงเป่อ และสมิงซายม่วน ได้พบกองทัพไทย จึงไปกราบทูลให้พระมหาอุปราชาทราบว่ากองทัพไทยตั้งกองทัพที่หนองสาหร่ายมีรี้พลประมาณ ๑๗-๑๘ หมื่น พระมหาอุปราชาเห็นว่าจะได้เปรียบเพราะมีกำลังมากกว่า จึงรับสั่งให้เตรียมพลตั้งแต่ ๓ นาฬิกา พอ ๕ นาฬิกา ก็ยกทัพไปตีกองทัพไทยให้แตก ครั้นได้ฤกษ์พระมหาอุปราชาทรงช้างพระที่นั่งพลายพัทธกอ เคลื่อนทัพออกจากตำบลตระพังตรุ

พระยาศรีไสยณรงค์และพระยาราชฤทธานนท์ เมื่อได้รับพระราชโองการให้ออกโจมตีข้าศึก จังจัดทัพแบบตรีเสนา คือ แบ่งเป็น ๓ ทัพใหญ่ แต่ละทัพแยกออกได้ ๓ กอง กองทัพอยุธยาเคลื่อนทัพออกจากตำบลหนองสาหร่ายถึงตำบลโคกเผาข้าว เวลาประมาณ ๗ นาฬิกา ได้ปะทะกับพม่า ทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันด้วยอาวุธชนิดเดียวกันเป็นคู่ ๆ ด้วยความสามารถที่มี

 

  • สมเด็จพระนเรศวรทรงปรึกษายุทธวิธีเอาชนะข้าศึก : สืบข่าวการรบของทัพหน้า

ขณะที่พราหมณ์ผู้ทำพิธีและผู้ชำนาญไสยศาสตร์ ทำพิธีเบิกประตูป่าและพิธีละว้าเซ่นไก่ หลวงมหาวิชัยรับพระแสงดาบอาญาสิทธิ์ ไปทำพิธีตัดไม้ข่มหนามตามไสยศาสตร์  สมเด็จพระนเรศวรได้ยินเสียงปืน ซึ่งไทยกับพม่ากำลังต่อสู้กันอยู่  แต่เสียงอยู่ไกลฟังไม่ชัด จึงให้หมื่นทิพเสนาไปสืบข่าว หมื่นทิพเสนานำขุนหมื่นผู้หนึ่งกราบทูลว่า ทัพไทยถอยร่นอยู่ตลอดเวลาเพราะทัพพม่ามีมาก สมเด็จพระนเรศวรจึงตรัสปรึกษาแม่ทัพคิดหาอุบายแก้ไขการศึก บรรดาแม่ทัพทูลว่าให้ส่งกำลังทัพไปปะทะทันที แต่พระองค์กลับไม่เห็นด้วยจึงใช้กลอุบายถอยออกมาโดยไม่หยุดยั้ง เพื่อให้ข้าศึกละเลิงใจ ยกติดตามมาไม่เป็นขบวน จากนั้นให้ยกทัพส่วนใหญ่ออกโจมตีจึงจะได้ชัยชนะ แม่ทัพเห็นด้วย สมเด็จพระนเรศวรจึงรับสั่งให้หมื่นทิพเสนากับหมื่นราชามาตย์ไปแจ้งทัพหน้าให้ถอยร่นโดยเร็ว ทัพพม่าจึงรุกมาไม่เป็นขบวน

ขณะที่สมเด็จพระนเรศวรประทับบนเกยช้าง เพื่อรอฤกษ์เคลื่อนทัพหลวงอยู่นั้น ได้บังเกิดเมฆก้อนใหญ่ลอยอยู่ทางทิศเหนือ แต่แล้วท้องฟ้ากลับดูแจ่มกระจ่าง  สว่างด้วยแสงพระอาทิตย์ส่องแสงจ้าเป็นนิมิตหมายที่แสดงถึงพระบรมเดชานุภาพ

จากนั้นสมเด็จพระนเรศวรและพระเอกาทศรถจึงได้เคลื่อนทัพตามเกล็ดนาค และเข้าปะทะกับข้าศึก พอช้างทรงทั้งสองของสมเด็จพระนเรศวรและพระเอกาทศรถได้ยินเสียงฆ้อง กลอง ปืน ก็เริ่มคึกคะนองด้วยกำลังตกมัน จึงวิ่งเข้าไปในหมู่ข้าศึก โดยควาญช้างไม่สามารถควบคุมได้ แม่ทัพและนายพลเสด็จตามไม่ทัน ผู้ที่เสด็จทันก็มีแต่กลางช้างและควาญช้าง ทั้งสองพระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นข้าศึกมีจำนวนมากมาย จึงไสช้างเข้าชนข้าศึก เหล่าข้าศึกต่างพากันระดมยิงปืนดั่งห่าฝนแต่ไม่ถูกช้างทรงของทั้งสองพระองค์ ทันใดนั้นได้เกิดควันตลบมืดราวกับไม่มีตะวัน ต่างฝ่ายต่างมองไม่เห็นกันเลย...

มืดแล้วเกิดอะไรขึ้นต่อไป สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจะสามารถเอาชนะกองทัพพม่าได้หรือไม่ มาถอดคำประพันธ์ลิลิตตะเลงพ่ายกันต่อบนแอปพลิเคชัน StartDee พร้อมบทวิเคราะห์คุณค่าด้านเนื้อหา ด้านสังคม และด้านวรรณศิลป์ ใครยังไม่ได้โหลด ลุยยยยยย คลิกลิงก์นี้เลย

สำหรับเพื่อน ๆ ชั้นม.5 สามารถเรียนวิชาภาษาไทยกันต่อกับบทเรียนออนไลน์เรื่อง โคลนติดล้อ ตอน ความนิยมเป็นเสมียน หรือข้ามไปเรียนวิชาสังคมศึกษาเรื่อง แผ่นดินถล่มและแผ่นดินทรุด  ส่วนใครที่เรียนสายวิทย์ เรามีวิชาเคมีเรื่องอัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี และวิชาชีววิทยาเรื่องความเครียดของพืช ไปอ่านกันต่อ ไม่ต้องรอเลยนะ !

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------